
สถานการณ์ปัจจุบัน การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของไทย ยังประสบปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนอย่างจริงจัง ทำให้การดำเนินการอนุรักษ์ยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจาก ยังขาดการดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งยังขาดงบประมาณและผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเพียงพอ ต่อการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถาน ในด้านต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายได้ให้อำนาจในการดูแลรักษาโบราณสถานระดับท้องถิ่นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการศึกษาวิจัยเรื่อง "ข้อบัญญัติท้องถิ่นต้นแบบ เพื่อการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถาน ชุมชนตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา” พบว่า ปัญหาที่สำคัญของการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งของวัดคูเต่าและวัดนารังนก คือ ขาดงบประมาณที่เพียงพอต่อการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงการมีส่วนร่วมและการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องของชุมชนรวมถึงประชาชนในพื้นที่ในการบริหารจัดการและการอนุรักษ์วัดคูเต่าและวัดนารังนก
คณะผู้วิจัยนำโดย ภูมิชัย สุวรรณดี พัชรี สุเมโธกุล ได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคูเต่าและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดนารังนก รวมถึงการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นดังกล่าว เพื่อให้มีการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ที่ดีเป็นระบบ และเพื่อให้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ให้กับชุมชนเก่าแห่งอื่นต่อไป อันส่งผลให้มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนและของชาติสืบต่อไปยังอนุชนคนรุ่นหลัง
ผลการวิจัยทำให้พบข้อเสนอแนะ การบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ ได้แก่ ๑. การพัฒนาวัดและเสริมสร้างศักยภาพวัด และโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดในด้านต่าง ๆ ๒. แนวทางการส่เสริมโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคูเต่า และวัดนารังนกเป็นแหล่งเรียนรู้เมื่อมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคูเต่าและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดนารังนก และมีข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ ๓. แนวทางการพัฒนาศาสนสถานวัดคูเต่าและวัดนารังนกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
และงานวิจัยนี้ ยังได้เสนอแนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดคูเต่าและวัดนารังนก รวมถึงแนวทางการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ให้เป็นกลไกสำคัญในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ ต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕