
ปัจจุบันหลายชุมชนให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยนำมาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระตุ้นให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สามารถดึงรายได้เม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นอันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
การพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิตบนฐานทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนมอญบางขันหมาก เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการเสริมพลัง จนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาไปด้วยกัน ใน ๕ องค์ประกอบ ได้แก่ การสังเกต การสะท้อนความคิด การวางแผน การลงมือปฏิบัติและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ จากชุมชนมอญบางขันหมาก ภาครัฐ/เอกชน และภาควิชาการ ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม สัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งและใช้หลายวิธีในการศึกษาวิเคราะห์และสะท้อนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ทราบว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ของชุมชนมอญบางขันหมาก นี้ สามารถพัฒนาได้ด้วยทุนทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ๑) ประเพณีสงกรานต์ ๒) พิธีกรรมไหว้ผีประจำตระกูล ๓) การตักบาตรน้ำผึ้ง ๔) ประเพณีทอดผ้าป่า ทางเรือ ๕) ข้าวแช่ : อาหารพื้นบ้าน ๖) การแต่งกายของชาวมอญ ๗) ซาโม่น : ตลาดมอญบางขันหมาก ๘) การละเล่นพื้นบ้าน ๙) ภาษามอญ ๑๐) อิฐมอญ และ ๑๑) งานสถาปัตยกรรมในวัดมอญ นั่นเอง
เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้วิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะไว้ ๓ แนวทาง ดังนี้ ๑.ชุมชน จำเป็นต้องรักษาจุดยืนของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บนพื้นฐานของความพอเพียงและความยั่งยืน ให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนเสริมที่ผสานกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชน รักษาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้คงคุณค่าเพื่อสืบทอดเป็นสมบัติของคนรุ่นหลังต่อไป ๒.พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่จัดทำขึ้นมาแล้ว ยังไม่ได้รับการรู้จักอย่างแพร่หลาย จำเป็นต้องได้รับการเชื่อมโยง ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น จังหวัด ภาค ประเทศและสากล เพื่อเป็นแรงกระตุ้นส่งเสริมให้สามารถเรียงร้อยเรื่องราว และเชื่อมโยงสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ทำให้สามารถจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ ชุมชน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และ ๓. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ควรร่วมมือกับชุมชน ท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดในการจัดให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการอนุรักษ์และสืบทอดทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นฐาน จะทำให้เกิดการค้นพบแนวทางการแก้ปัญหา พัฒนาในต่าง ๆ อันจะทำให้ชุมชนและท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีเศรษฐกิจที่ดีไปพร้อมกับการดำรงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕