
เนื่องในโอกาส "วันวิสาขบูชา” อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของเรา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะขอสรุปความเป็นมา ความสำคัญและเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ "วันวิสาขบูชา” มาให้ทราบกันดังต่อไปนี้
๑. "วันวิสาขบูชา” มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหนก็จะเลื่อนไปเป็นขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ เช่นในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ นี้) การบูชาในวันนี้ก็เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั่วโลกจึงให้ความ สำคัญกับวันนี้
๒.แม้ว่าเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธองค์จะเกิดขึ้นต่างคราวกัน แต่ก็เวียนมาบรรจบครบรอบในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะของแต่ละเหตุการณ์ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกและมหัศจรรย์ยิ่ง เป็นสิ่งที่มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย นั่นคือ ครั้งแรก เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติในเช้าวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ปีจอก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวหะ ปัจจุบันอยู่ในเมืองลุมมินเด ประเทศเนปาล (ปีพุทธศักราช นับหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว) ครั้งที่สอง เป็นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แค้วนมคธ ปัจจุบันคือเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ครั้งที่สาม คือวันปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเขตกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย รวมสิริพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษาก่อนพุทธศักราช ๑ ปี
๓.เจ้าชายสิทธัตถะที่ได้บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรารู้จัก มิใช่พระพุทธเจ้าองค์แรก แต่ในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และโปรดสัตว์ถึง ๕ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป และพระสมณโคดม (คือเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ของกัปนี้ ส่วนองค์ต่อไปที่จะตรัสรู้และมาโปรดสัตว์ ซึ่งเราได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูคือ พระศรีอารยเมตไตรย (พะ-สี-อา-ระ-ยะ-เมด-ไต) หรือเรียกสั้นๆว่า "พระศรีอาริย์” (พะ-สี-อาน)
๔. การประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในบ้านเราเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา ซึ่งไทยเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางด้านพุทธศาสนา แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีหลักฐานปรากฏ จนสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงมีหลักฐานปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ทรงให้มีการฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้ประกอบการบุญการกุศล เพื่อเป็นหนทางเจริญอายุ อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยและอุปัทวันตรายต่างๆ ดังนั้น การประกอบพิธีวิสาขบูชาจึงได้มีการถือปฎิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
๕. "พุทธะ” หรือ "พระพุทธเจ้า” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันมีความหมายว่า ผู้รู้ คือ รู้ความจริง ๔ ประการหรืออริยสัจ ๔ ได้แก่ รู้ทุกข์ รู้แหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติในการดับทุกข์ ผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลส ไม่ตกในอำนาจหรือไม่ถูกกิเลสครอบงำอีกต่อไป ผู้เบิกบาน คือ เบิกบานด้วยพระคุณ ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ อันทำให้ทรงทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มที่ด้วยการอุทิศพระองค์จาริกประกาศพระธรรมไปตามแว่นแคว้นต่างๆท่ามกลางลัทธิทั้งหลาย จนได้รับการขนานพระนามว่า "พระโลกนาถ” คือ พระผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลกและเพราะเหตุที่พระองค์ทรงรู้ ทรงตื่น และทรงเบิกบานด้วยพระองค์เอง จึงทรงกล้าประกาศว่าพระองค์เป็น "พระสัมมาสัมพุทธะ” อันหมายถึง ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
๖. หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ที่เกี่ยวเนื่องกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ได้แก่ เรื่องความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ซึ่งล้วนเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า หากเราน้อมนำไปปฏิบัติก็ช่วยพัฒนาตัวเราและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดี
๗. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อน คู่กับความกตเวที คือการตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้แก่เรา ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นคุณธรรมที่ช่วยค้ำจุนโลก ทำให้โลกและสังคมร่มเย็นเป็นสุข ส่วนอริยสัจ ๔ อันเป็นความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และนำออกสั่งสอนชาวโลก ก็เป็นหลักธรรมที่ทำให้เราได้รู้จักชีวิต รู้จักโลกตามความเป็นจริง และเรียนรู้วิธีแก้ไข และหลักธรรมในเรื่องความไม่ประมาทอันเป็นเรื่องสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวไว้ เป็นการเตือนสติให้เรารู้ตัวตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ เพื่อให้เราดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
๘. เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ "วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากล” ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวันดังกล่าวอันเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศาสดาของพุทธศาสนาอันเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางจิตวิญญาณต่อมวลมนุษยชาติ ตลอดระยะเวลากว่า ๒๕๐๐ ปีที่ผ่านมา และสืบต่อไปในอนาคต อีกทั้งคำสั่งสอนที่ให้มวลมนุษยชาติมีเมตตาธรรม และขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม ก็สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ
๙. กิจกรรมหรือแนวทางที่พึงปฏิบัติในวันนี้อาจทำได้หลายประการ ทั้งนี้อยู่ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา การไปเวียนเทียนที่วัด การประดับธงชาติ ธงธรรมจักรตามบ้านเรือน อาคารสถานที่ การจัดแต่งที่บูชาพระประจำบ้าน การพาครอบครัวไปร่วมปฏิบัติธรรม บำเพ็ญกุศลต่างๆ หรือทำสาธารณะประโยชน์ด้วยการร่วมปลูกต้นไม้ เพราะในวันวิสาขบูชา นี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็น ”วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” ด้วย เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒
อนึ่ง หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๘ วัน บรรดากษัตริย์มัลละแห่งกุสินารา รวมถึงพุทธศาสนิกชน และพุทธสาวกอันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน ก็ได้พร้อมใจกันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มงกุฏพันธนเจดีย์ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกวันนี้ว่า "วันอัฐมีบูชา” หรือการบูชาในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ (ปีอธิกมาส ก็จะเลื่อนไปเป็นวันแรม ๘ค่ำ เดือน๗) ซึ่งวันดังกล่าว นอกจากจะมีการถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน และเป็นมูลเหตุให้เกิดปฐมสังคายนาต่อมาด้วย เนื่องจากสุภัททะ ซึ่งบวชอายุมากแล้ว พูดจาดูหมิ่นพระธรรมวินัย พระมหากัสสปะจึงเกรงว่า พระธรรมวินัยจะสูญสิ้นไปในอนาคต จึงได้ประชุมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปร่วมกันทำปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหาทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จเสร็จสิ้น