
มรดกด้านศิลปะการแสดงของภาคใต้ นอกจาก โนรา และ หนังตะลุง ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิง งานมงคล งานอวมงคล และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจของคนปักษ์ใต้ ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ กาหลอ (การประโคม ดนตรีของชาวใต้) เพลงบอก (การเล่นกลอนสดของชาวใต้) และ รองเง็ง (การเต้นพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม) ที่น่าเรียนรู้และน่าชื่นชมเมื่อมีโอกาส
กาหลอ
ในอดีตกาหลอเป็นเครื่องประโคมสำคัญอย่างมากของชาวภาคใต้ กล่าวได้ว่า เป็นการประโคมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์กว่าการเล่นชนิดอื่น นอกจากมีความไพเราะแล้ว ยังเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านโดยทั่วไป มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวภาคใต้โดยเฉพาะ เมืองนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง ซึ่งการประโคมชนิดนี้จะนิยมแสดงในงานงานศพ งานบวชนาค และงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น สิ่งสำคัญของกาหลอ คือ ครูกาหลอและเพลงกาหลอ เพลงกาหลอทุกเพลงมีเนื้อเพลง แต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เป่าปี่ คือ ผู้ที่จดจำสืบต่อมา เพลงกาหลอไม่นิยมนำมาร้องเล่น เพราะถือเป็นสิ่งอัปมงคลแก่ชีวิต
เพลงบอก
เพลงบอกเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งในเทศกาลต่าง ๆ ทั่วไปของชาวใต้ บริเวณจังหวัด ภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง และจังหวัดสงขลา อุปกรณ์ในการเล่น ได้แก่ ฉิ่ง และคณะผู้ขับร้อง ชาวใต้ส่วนใหญ่เชื่อว่าเพลงบอกมาจากการบอกกล่าว เพลงบอกเป็นการละเล่น ที่นอกเหนือจากให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องสงกรานต์ เช่น ประวัติความเป็นมาของสงกรานต์ ชื่อของนางสงกรานต์ และความรู้เรื่องอื่น ๆ เช่น คำสอน วัฒนธรรมประเพณี ลักษณะการละเล่น พอถึงปลายปี เดือนสี่ เดือนห้า เป็นช่วงเวลาที่ชาวนา ในภาคใต้ส่วนมากเก็บเกี่ยวเสร็จ พอพลบค่ำจะตระเวนไปตามหมู่บ้านโดยมีคนในหมู่บ้าน เป็นผู้นำทางและคนปลุกเจ้าของบ้าน เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู แม่เพลงจะขับเพลงบอกขึ้นในทันที เนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวชมชาวบ้าน เจ้าบ้านมีรางวัลให้กับ คณะเพลงบอก และคณะเพลงจะตระเวนต่อไปจนเช้า
เพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ มีผู้เล่นไม่มากนัก ได้แก่ แม่เพลง ๑ คน และลูกคู่อีก ๔ คน ส่วนดนตรีประกอบมีเพียงอย่างเดียวคือ ฉิ่ง การร้อง เพลงบอกใช้ภาษาถิ่นใต้ ใช้ปฏิภาณร้องไปตามเหตุการณ์ที่พบเห็น วิธีเล่นหรือขับเพลง สำหรับ วิธีการขับเพลงบอก เมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า ว่าเอ้ว่าเห่ พร้อม ๆ กัน ต้องตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ในเพลงบอกบทหนึ่ง ๆ มีจำนวนวรรคอยู่ ๔ วรรค วรรคหนึ่ง ๆ มีจำนวนคำไม่แน่นอน
รองเง็ง
ศิลปะการเต้นรำพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหว ของเท้า มือ และร่างกาย รวมทั้งเครื่องแต่งกายอันงดงามของนักแสดงชายหญิง การเต้นรองเง็ง เป็นการเต้นที่สุภาพ คือไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกัน ผู้ชายสมัครเต้นมีสิทธิ์โค้งผู้หญิงหรือพาร์ทเนอร์ ได้ทุกคนแต่ละคนมีลีลาการเต้นแตกต่างกัน เครื่องแต่งกายของผู้เต้นรองเง็งเป็นแบบพื้นเมือง คือ ผู้ชายสวมหมวกไม่มีปีก หรือที่เรียกว่าหมวกแขกสีดำ บางที่ศีรษะสวมซะตางันหรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิม นุ่งกางเกง ขายาว ขากว้างคล้ายกางเกงจีน สวมเสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง แล้วใช้โสร่งแคบ ๆ ยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกง เรียกว่า "ผ้าสิลินัง” หรือ "ผ้าซาเลนดัง” ถ้าเป็นเจ้านาย หรือผู้มีเงินมักใช้ผ้าไหมยกดิ้นทองดิ้นเงิน ฐานะรองลงมาใช้ผ้าไหมเนื้อดีตาโต ๆ ถัดมาใช้ผ้าธรรมดา
ส่วนผู้เต้นฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกเรียกเสื้อบันดง ลักษณะเสื้อแบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทองเป็นระยะ สีเสื้อสดสวยและเป็นสีเดียวกับผ้าปาเต๊ะยาวอหรือซอแก๊ะซึ่งนุ่งกรอมเท้า นอกจากนี้ยังมีผ้าคลุมไหล่บาง ๆ สีตัดกับสีเสื้อที่สวม การเต้นรองเง็งส่วนใหญ่มีชายและหญิงฝ่ายละ ๕ คน โดยเข้าแถวแยกชายหญิง ห่างกันพอสมควร ใช้ลีลามือ และลำตัวเคลื่อนไหวไปข้างหน้าข้างหลังให้เข้ากับดนตรี ความสวยงาม ความน่าดูของศิลปะรองเง็งอยู่ที่การใช้เท้าเต้นให้เข้ากับจังหวะส่วนการร่ายรำเป็นเพียงองค์ประกอบ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในการแสดงรองเง็ง ได้แก่ รำมะนา ฆ้อง ไวโอลิน และกีตาร์
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒