
โนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการละเล่นอันเก่าแก่ของชาวภาคใต้ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวใต้ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสนอง ความต้องการของชีวิตและสังคม จึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมายาวนานแนบแน่น สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นไปของสังคมไว้เกือบทุกแง่ทุกมุม เพราะนอกจากโนราจะมีบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย วิถีชีวิตของชาวใต้ในอดีต จึงมีความเกี่ยวข้องกับโนราอย่างแยกไม่ออก การแสดงโนราอาจแบ่งออกได้ ๒ ประเภท คือ โนราที่ใช้การแสดง และโนราที่ใช้ในพิธีกรรม หรือที่เรียกว่า "โนราลงครู” หรือ "โนราโรงครู”
การแสดงโนราเป็นการแสดงที่มีทั้งการร่ายรำ บทร้อง ประกอบดนตรี บทเจรจา และบางทีก็มีการแสดงเรื่องด้วย เครื่องดนตรีของโนราคล้ายกับเครื่องดนตรีของหนังตะลุง คือ มีทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ เครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบจังหวะ และเสียงร้องให้เข้ากันกับการรำ ก่อนออกตัวแสดงจะมีการโหมโรงและอัญเชิญ เริ่ม การแสดงด้วยการโหมโรงและอัญเชิญ หรือ "กาศครู” ก่อนตัว แสดงจะออกมาร่ายรำทำหน้าเวที มีการกล่าวบทหน้าม่านเรียกว่า "กำพรัดหน้าม่าน” โดยใช้ลีลากลอนหนังตะลุง
ต่อจากนั้นตัวแสดงแต่ละตัวจะออกมาร่ายรำ เสร็จแล้วเข้าไปนั่งที่พนัก หรือเตียง ซึ่งแต่เดิมทำด้วยไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้เก้าอี้แทน ว่าบทร่ายแตระ แล้วทำบท "สีโต ผันหน้า” โดยร้องบทและตีท่าตามบทนั้น ๆ หลังจากรำบทร่ายแตระเสร็จแล้ว ก็จะว่ากลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กล่าวกับผู้ชาย หรือว่าเรื่องอื่น ๆ โดยมีลูกคู่รับ เสร็จแล้วก็เข้าโรงรำเช่นนี้ หลาย ๆ ตัวแล้วจึงมีตัวพรานออกมา บอกเรื่อง ตัวพรานจะสวมหน้ากาก เรียกว่า "หัวพราน” หรือ "หน้าพราน” ซึ่งแกะจากไม้ทาสีให้มองดูตลก มีลักษณะจมูกใหญ่ แก้มป่อง ปลายจมูกและแก้มทาสีแดง โนราถือว่าหน้าพรานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การแสดงโนรามีการเจรจาภาษาถิ่นบ้าง ภาษากลางบ้าง สลับกับกลอน ใช้บทกลอนบรรยายเรื่อง โดยตัวแสดงเป็นผู้ว่ากลอน แต่หากเป็นการแข่งโนราประชันโรง ก็จะมีวิธีการซับซ้อนกว่านี้ โดยทั่วไปมักจะแสดงในงานเทศกาลนักขัตฤกษ์ งานมงคลทั่วไป หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ บางโอกาสก็แสดงตามคติความเชื่อที่เป็น พิธีกรรมเพื่อแก้บนหรือ "แก้เหฺมฺรย” ในพิธีโรงครูของครอบครัว ที่มีเชื้อสายตายายโนรา
เครื่องแต่งกายของโนราใช้เครื่องทรงอย่างกษัตริย์ มีเทริด ผ้าห้อยหน้า เจียระบาด สร้อยตาบหางหงส์ ปีกนกแอ่น ปีกเหน่ง เสื้อ ๒ ชั้น ชั้นในเป็นผ้าธรรมดา ชั้นนอกร้อยลูกปัดคาดรอบอก รอบแขน สวมกำไลมือเท้า สวมเล็บ ปลายแหลมงอนเรียว การสวมเครื่องแต่งกายทุกครั้งต้องเสกคาถา แป้งที่ใช้ทาต้องเสกด้วยคาถา และลงอักขระเพื่อความสิริมงคล สร้างขวัญและกำลังใจนักแสดง นั่นเอง
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒