กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ “หนังตะลุง”

วันที่ 8 เม.ย. 2565
 

     มรดกด้านศิลปะการแสดงที่คนทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลายของภาคใต้ คือ หนังตะลุง โนรา (มโนราห์) และยังมีศิลปะการแสดงอีกมากมาย เช่น กาหลอ (การประโคม ดนตรีของชาวใต้) เพลงบอก (การเล่นกลอนสดของชาวใต้) รองเง็ง (การเต้นพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม) ฯลฯ ล้วนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ และต่อยอดให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน
 
     หนังตะลุง เป็นมหรสพพื้นบ้านที่นิยมแพร่หลายและผูกพันกับวิถีชีวิตชาวใต้มายาวนาน ในอดีต เดิมนิยมเล่นในงานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของชุมชน แต่จะไม่นิยม ในงานระดับครอบครัว เช่น งานแต่งงาน งานศพ ดังนั้นในอดีตงานวัดหรืองานเฉลิมฉลองสำคัญ จึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวไม่ยึดถือเคร่งครัด เช่นแต่ก่อน นอกจากความบันเทิงแล้ว หนังตะลุงยังสะท้อนค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องที่เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรอง ที่ขับร้องด้วยสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และ ใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม การว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
 
     หนังตะลุงมีต้นกำเนิดจากอินเดีย เรียกว่า "ฉายานาฏก” ซึ่งได้เข้ามาแพร่เข้าในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย โดยผ่านเข้ามาทางมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ชาวมลายู เรียกว่า "วายังกุเลต” วายัง แปลว่า รูปหรือหุ่น ส่วนกุเลต แปลว่า เปลือก หรือหนังสัตว์ วายังกุเลต จึงหมายถึง รูปหรือหุ่นรูปที่ทำด้วยหนังสัตว์ ปรากฏหลักฐานว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระยาพัทลุง (เผือก) ได้นำหนังจากเมืองพัทลุงเข้ามาเล่น ในแถวนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร เรียกว่า "หนัง” หรือ "หนังควน” จึงเป็นเหตุให้ชาวกรุงเทพมหานครเรียกว่า "หนังพัทลุง” เข้าใจว่าภายหลังเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง”
 
     หนังตะลุงคณะหนึ่งมีตัวหนังตะลุงประมาณ ๑๒๐ - ๒๐๐ ตัว ตัวหนังที่ต้องมี ได้แก่ ฤาษี พระอิศวร เจ้าเมือง พระ นาง ยักษ์ และตัวตลก และตัวประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ตัวตลก ที่ทำให้คนดูเกิดความสนุกสนาน เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือตัวเอก มีประมาณ ๘ - ๑๕ ตัว เช่น เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว (คู่กับเณรพอน) ยอดทอง ขวัญเมือง สะหม้อ เป็นต้น ในส่วนเครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงในอดีต ได้แก่ ปี่ กลอง ทับ ฉิ่ง และโหม่ง ปัจจุบันมีเครื่องดนตรีอื่น ๆ เข้ามาประสม เช่น ใช้กลองชุด หรือกลองทัมบ้าของดนตรีสากล แทนกลอง ที่ใช้กันมาแต่เดิม และยังมีการใช้ไวโอลีน ออร์แกน ซอด้วง แทนปี่ หรือประสม กับปี่ เป็นต้น
 
>>> มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ "หนังตะลุง” ชมภาพพร้อมคำบรรยาย คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/080465a.pdf
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒ 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)