กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
๖ เมษายน วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

วันที่ 6 เม.ย. 2565
 

     วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือที่คนทั่วๆไปเรียกว่า "วันจักรี” หมายถึง วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระนคร และทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศเป็นวันแรก

 
      ความเป็นมาของวันจักรีนี้ สืบเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล โดยพระราชทานนามใหม่ว่าปราสาทพระเทพบิดร และโดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรีว่าทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศชาติ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงเชิดชูพระเกียรติคุณและระลึกถึงพระองค์ ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมายังประสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่รัชกาลที่ ๑ ได้กรีธาทัพมาถึงพระนครและรับเชิญเสด็จครองสยามราชอาณาจักร ถือเป็นวันมหามงคล จึงได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการประจำปี กำหนดทุกวันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบต่อมาจนปัจจุบัน
 
     พระราชประวัติย่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๙ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดาพระนามว่า หลวงพินิจอักษร(ทองดี) พระราชมารดาพระนามว่า ดาวเรือง (หยก) ได้รับราชการในรัชกาลพระเจ้าอุทุมพร และได้เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรีสมัยพระเจ้าเอกทัศ ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตก ก็ได้มารับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากเป็นขุนศึกคู่พระทัย ทำความดีความชอบได้เลื่อนฐานันดรเป็น พระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาตามลำดับ
 
     ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๒๔ เกิดจลาจลในเมืองเขมร เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทรงเป็นแม่ทัพยกไปปราบ ก็บังเอิญว่าทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้น ด้วยว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสัญญาวิปลาศ ข้าราชการผู้ใหญ่สมัยนั้น เกรงว่าจะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นจึงได้อัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าอยู่หัว เป็นปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์สกลจักวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิศัยเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศร โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว” สำหรับพระนาม "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ที่เรียกในสมัยหลังนั้น เป็นพระนามที่ถวายในรัชกาลที่ ๓ ด้วยสมัยก่อนราษฎรจะไม่กล้าเอ่ยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน และมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินต้น เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ ทรงไม่อยากให้ใครเรียกสมัยพระองค์ว่าแผ่นดินปลาย อันฟังดูไม่เป็นมงคล จึงได้หาอุบายหล่อพระพุทธรูปแล้วตั้งนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย (เปลี่ยนเป็น นภาลัย สมัยรัชกาลที่ ๔) แล้วมีพระบรมราชโองการสั่งให้หนังสือราชการอ้างแผ่นดินตามพระนามของพระพุทธรูปดังกล่าว รัชกาลที่ ๑ จึงได้พระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ตั้งแต่นั้นมา และเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๕ ในสมัยรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ ๙ ทรงได้รับสถาปนาเป็น "มหาราช” จึงมีพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ส่วนที่ตั้งเป็น "จักรีพระบรมราชวงศ์” มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเนื่องจากพระองค์เคยมีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีอยู่ถึง ๑๐ ปี และเชื่อกันว่าพระบิดาก็เคยเป็นเจ้าพระยาจักรีอยู่ที่พิษณุโลก จึงตกลงเรียกพระราชวงศ์ใหม่ว่า "พระบรมราชวงศ์จักรี” ซึ่งสถาปนาเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา
 
     สำหรับพระบรมรูปของพระองค์และสะพานพระพุทธยอดฟ้าที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและเชื่อมพระนครธนบุรีนั้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๗ ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อพระนครหรือกรุงเทพฯมีอายุครบ ๑๕๐ ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ปรากฏว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศสืบต่อมา
 
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ว่า ".......ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะปกป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี” ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่ประเทศในหลายๆด้าน สมดั่งพระราชปณิธาน อาทิ
 
     ๑.การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่จังหวัดพระนคร หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ใช้เวลาสร้าง ๗ ปีและพระราชทานนามว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหิทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถาน อมรพิมานอตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยน บวร เป็น อมร) ซึ่งมีสิ่งสำคัญที่สร้างพร้อมพระนคร คือ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต
 
     ๒.วางระเบียบการปกครอง ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สำคัญเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลาง มี สมุหนายก เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน สมุหกลาโหม หัวหน้าฝ่ายทหาร หัวหน้าทั้งสองฝ่ายมีตำแหน่งเป็น อัครมหาเสนาบดี รองลงมาคือเสนาบดีจตุสดมภ์ ทำหน้าที่บริหารราชการ ๔ ฝ่ายคือ เวียง วัง คลัง นา ส่วนภูมิภาค ทรงแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองฝ่ายใต้ และวางหัวเมืองรอบราชธานีเป็น หัวเมืองชั้นเอก หัวเมืองชั้นโท หัวเมืองประเทศราช
 
     ๓.ชำระกฎหมาย ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีกฎหมายเป็นหลักในการชำระอรรถคดีมาแต่โบราณ แต่ได้สูญหายไปเมื่อคราวเสียกรุงเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ก็ฟั่นเฟือนวิปริต เพราะมีผู้ไปดัดแปลงให้เป็นประโยชน์แก่ตน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งข้าราชการขึ้นชำระตัวบทกฎหมายต่างๆ แล้วจัดไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวก และเป็นธรรมแก่การวินิจฉัยอรรถคดีต่างๆ ที่สำคัญคือ กฎหมายตราสามดวง ที่โปรดเกล้าฯให้เขียนในสมุด ๓ ฉบับ และแต่ละฉบับจะประทับตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้วไว้ และโปรดเกล้าฯให้เก็บไว้ที่ห้องเครื่อง ๑ ฉบับ หอหลวง ๑ ฉบับและไว้ที่ศาลหลวงอีก ๑ ฉบับเพื่อใช้เป็นแนวในการตัดสินและชำระคดี และเหตุที่ทุกฉบับต้องประทับตรา ๓ ตราดังกล่าวไว้ จึงเรียกว่า
 
     กฎหมายตราสามดวง กฎหมายตราสามดวง มีลักษณะเป็นวรรณคดี มีการเรียบเรียงถ้อยคำอย่างสละสลวย เป็นแบบฉบับของการแต่งความเรียงร้อยแก้ว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย เนื้อหาประกอบด้วยกฎหมายลักษณะทั่วไป กฎหมายมณเฑียร กฎหมายลักษณะการปกครอง กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลและพิจารณาคดี รวมทั้งกฎหมายเอกชน กฎหมายอาญา และกฎหมายที่มิได้จัดอยู่ตามมูลคดี เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสงฆ์ เป็นต้น กฎหมายตราสามดวงนี้ได้เป็นแบบฉบับใช้ต่อกันมาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ปี จวบจนรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลครั้งใหญ่ กฎหมายนี้จึงได้ถูกยกเลิกไป แต่ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่มีอิทธิพลต่อกฎหมายรุ่นใหม่เป็นอันมาก และยังมีผู้สนใจในฐานะวรรณกรรมอมตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของไทย
 
     ตัวอย่างกฎหมายตราสามดวง ที่ชื่อว่า พระไอยการอาชาหลวง อันเป็นการกล่าวถึงลักษณะผู้ต้องอธิกรโทษในพระราชอาญาหลวง มีมาตราหนึ่งกล่าวไว้ "มีพระราชโองการสั่งให้กำหนดเอาคนไปการณรงค์สงคราม แลขุนมุนนายมิได้เอาคนไปการณรงค์สงคราม แลเอาเงินค่าจ้างเปนอนาประโยชน์แก่ตนก็ดี แลเกน(เกณฑ์)เอาผู้คนบ่าวไพร่เข้ากองทับ แล้วกลับเอาเงินค่าจ้าง แลมิได้เอาไปการณรงค์สงครามก็ดี ทำให้เสียราชการพระผู้เปนเจ้าไป ท่านว่าเลมิด(ละเมิด)ให้ลงโทษ ๘ สถาน คือให้ฆ่าคนร้ายนั้นเสีย ๑ ให้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ๑ เรียกเอาเงินซึ่งเอาแก่ไพร่นั้นแขวนคอประจานแล้ว ทวนด้วนลวดหนัง ๒๕ ที ๑ ให้เอาตัวออกจากราชการแล้วทวยด้วยไม้หวาย ๒๕ ที ๑ ให้ไหมจัตุระคูน ๑ ให้ไหมทวีคูณ ๑ ให้ไหมลาหนึ่ง ๑ ให้อุเบกษาภาคทัณฑ์ไว้ ๑
 
     ๔.ฟื้นฟูพระราชประเพณี ทรงเห็นว่าโบราณราชประเพณีเป็นสิ่งพึงสงวนไว้ จึงโปรดให้ฟื้นฟูราชประเพณีที่จำเป็นขึ้นใหม่ เช่น พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พิธีพืชมงคล พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น
 
     ๕. การทำนุบำรุงบ้านเมือง ในด้านการวรรณคดี แม้จะมีศึกสงครามใหญ่ตลอดรัชกาล แต่พระองค์ก็ยังทรงโปรดให้การอุปถัมภ์ด้านวรรณคดีเป็นอย่างมาก โปรดให้แต่งบทละครที่ถูกเผาและสูญหายเมื่อกรุงแตกขึ้นใหม่ ๔ เรื่องคือ รามเกียรติ์ ดาหลังหรืออิเหนาใหญ่ อุณรุท และอิเหนา รัชสมัยนี้วรรณคดีเริ่มยุคใหม่ คือหันมานิยมทางร้อยแก้วมากขึ้น มีการแปลพงศาวดารจีนเป็นไทยหลายเล่ม วรรณกรรมชิ้นเอกๆ เช่น สามก๊ก และราชาธิราช ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ยังจัดเป็นยอดความเรียงมาจนถึงปัจจุบัน ในด้านการพระศาสนา โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ ๑๐ ในพระพุทธศาสนา โดยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก แล้วให้จารึกลงในใบลานคัดลอกไปไว้ตามพระอารามต่างๆเพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ยังได้สร้างวัดพระแก้ว วัดพลับในคลองบางกอกใหญ่ และบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดสุทัศน์ฯ วัดอรุณ วัดสระเกศ วัดระฆัง เป็นต้นทำให้การศาสนาในบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น
 
     ๖.ในด้านต่างประเทศ ทรงให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ และทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว ญวน หรือจีน หากเดือดร้อน ถ้าช่วยเหลือได้พระองค์ก็มิเคยขัด ไม่ว่าจะเป็นเสบียงอาหาร หรืออาวุธยุทธภัณฑ์ อย่างเช่นได้ทรงอุปการะองเชียงสือ เชื้อสายกษัตริย์ญวน ซึ่งต่อมาภายหลังได้ชัยชนะพวกกบฏไตเซิน ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าเยียลอง ทรงส่งดอกเงินดอกไม้ทองมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณตลอดรัชกาลที่ ๑
 
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระประชวรด้วยโรคชราและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติ ๒๗ ปี ทรงมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ทั้งที่ประสูติก่อนและหลังปราบดาภิเษก จำนวน ๔๒ พระองค์
 
     ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ต้องทรงออกศึกใหญ่เพื่อกอบกู้อิสรภาพถึง ๑๑ ครั้งโดยทรงเป็นแม่ทัพถึง ๑๐ ครั้ง และทรงร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ๑ ครั้ง และเมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังต้องออกศึกเพื่อปกป้องอิสรภาพของชาติไทยอีกถึง ๗ ครั้ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระกษัตริย์ยอดนักรบที่ยิ่งใหญ่และเก่งกล้าสามารถยิ่ง
 
     ในโอกาสที่ "วันจักรี” ได้เวียนมาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๖ เมษายน ศกนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ปฐมบรมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงปกป้องและคุ้มครองรักษาผืนแผ่นดิน อันเป็นที่รักของเราให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)