กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ “ผ้ายกเมืองนคร”

วันที่ 4 มี.ค. 2565
 

     ในอดีตสังคมเกษตรกรรมทุกครัวเรือนได้รับการศึกษาถ่ายทอดวิชา การทอผ้าเพื่อใช้สอยในครอบครัว การแต่งกายชาวภาคใต้ใช้ผ้าหลายรูปแบบ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าแพร ผ้าเขียนลายเทียน ผ้ามัด-ย้อม อันเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากภาคอื่น ๆ ในอดีตโดยทั่วไปชาวปักษ์ใต้นิยมนุ่งผ้าคล้ายผ้าขาวม้ามีสีแดง การนุ่งผ้าปาเต๊ะหรือบาติกที่มีลวดลายสีสันหลากหลายเป็นความนิยมในช่วงหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลของผ้ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ชายไทยมุสลิมจะนิยมนุ่งผ้าโสร่ง ผู้หญิงจะนุ่งผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติก แม้ในปัจจุบันจะนิยมสวมเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ผ้าที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ เช่น ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช ผ้าทอพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา ผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง เป็นต้น
 
     ผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการยกย่องว่า เป็นผ้ายกที่ลวดลายสีสันวิจิตรงดงามเป็นแบบอย่างผ้าชั้นดี ซึ่งน่าจะทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวกันว่า เมื่อครั้งเมืองนครศรีธรรมราชยกกองทัพไปปราบกบฏเมืองไทรบุรีและได้กวาดต้อนครอบครัวเชลยกลับมาพร้อมทั้งช่างฝีมือต่าง ๆ รวมทั้งช่างทอผ้ายก หลังจากนั้นจึงพัฒนาการทอผ้ายกขึ้นอันเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับความรู้ดั้งเดิมโดยใช้กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน พิถีพิถัน ประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งที่สูงค่ามีราคา จึงปรากฏหลักฐานว่าผ้ายกเมืองนครเป็นงานประณีตศิลป์ ชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเป็นเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อในเวลาต่อมา
 
     ผ้ายกเมืองนครมี ๓ รูปแบบ ได้แก่ ผ้าแบบมีกรวยเชิงซ้อนหลายชั้น กรวยเชิง จะมีความละเอียดอ่อนช้อย มีลวดลายหลายลักษณะประกอบกัน ริมผ้าจะมีลายขอบผ้า เป็นแนวยาวตลอดทั้งผืน พื้นผ้าจะมีการทอสลับสีด้วยเทคนิคการมัดหมี่เป็นสีต่าง ๆ ลายของผ้าพบนิยมทอผ้าพื้นและยกดอก ผ้าที่นิยมทอด้วยเส้นทองจะเป็นผ้าสำหรับเจ้าเมือง ขุนนางชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ ผ้าแบบมีกรวยเชิงชั้นเดียว ลักษณะกรวยเชิงจะสั้น ทอคั่นด้วยลายประจำยามก้ามปู ลายประจำยามเกลียว ใบเทศ ไม่มีลายขอบ ถ้านิยมทอด้วยเส้นทองหรือเส้นเงิน จะเป็นผ้าสำหรับคหบดี และผ้าแบบ มีกรวยเชิงขนานกับริมผ้า ลวดลายกรวยเชิงถูกดัดแปลงมาไว้ที่ริมผ้าด้านใดด้านหนึ่ง โดยผสมดัดแปลงนำลายอื่นมาเป็นลายกรวยเชิงเพื่อให้สะดวกในการทอและการเก็บลาย ผ้าลักษณะนี้มีทั้งทอด้วยไหม ด้วยฝ้ายหรือทอผสมฝ้ายแกมไหม เป็นผ้าสำหรับสามัญชนทั่วไปใช้นุ่ง พบผ้านุ่งสำหรับสตรี หรือใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านาคในพิธีอุปสมบท
 
     ลวดลายผ้ายกเมืองนครส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่พบเห็นอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลายพันธุ์ไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกพิกุลแก้ว ลายดอกพิกุลล้อม ลายดอกพิกุลก้านแยก ลายดอกพิกุลสลับลายลูกแก้ว ลายดอกมะลิร่วง ลายดอกมะลิตูมก้านแย่ง ลายดอกไม้ ลายใบไม้ ลายเครือเถา ฯลฯ กลุ่มลายสัตว์ เช่น ลายม้า ลายหางกระรอก ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายแมงมุม ก้านแย่ง ฯลฯ กลุ่มลายเรขาคณิต และยังมี กลุ่มลายเบ็ดเตล็ด เช่น ลายไทยประยุกต์ ลายไทยประยุกต์ผสม รวมทั้งลายอื่น ๆ ที่ไม่ทราบชื่อ
 
>>> มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ "ผ้ายกเมืองนคร” ชมภาพพร้อมคำบรรยาย คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/040365a.pdf
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)