กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ “โบราณวัตถุ”

วันที่ 21 ม.ค. 2565
 

     ในภาคใต้ของไทยพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ จนทั่งถึงปัจจุบัน โดยโบราณวัตถุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช ถลาง และพิพิธสถานแห่งชาติจังหวัดสงขลา อาทิ
 
     กลองมโหระทึก เป็นกลองที่หล่อจากโลหะสำริดมี เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม ลักษณะทรงกระบอก ส่วนบนและส่วนล่างผายออก ที่หน้ากลองมีลวดลายประดับ เช่น รูปพระอาทิตย์ เรือ เป็นต้น บางครั้งทำเป็นประติมากรรมลอยตัวรูปกบขนาดเล็ก พบในวัฒนธรรมของดองซอน หรือดงเซิน ในประเทศเวียดนาม และแพร่กระจายอยู่ในจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
     ลูกปัด (bead) เป็นเครื่องประดับทำจากวัสดุต่าง ๆ เช่น หิน แร่ กระดูก ฟัน เปลือกหอย ทองคำ สำริด เป็นต้น นำมาขัดฝนหรือหล่อให้เป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ กัน เช่น ทรงกลม กรงกระบอก แผ่นแบน รูปสัตว์ ฯลฯ มีรูร้อยด้ายหรือเชือกเป็นเส้น เพื่อประดับตกแต่งร่างกายหรือสถานที่ เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เป็นต้น ลูกปัดกัดสี (etched bead) เป็นลูกปัดหินมีลักษณะเป็นลายสีขาวบนพื้นสีดำ สีน้ำตาล หรือสีส้ม ทำจากหินอะเกต (Agate) และคาร์นีเลียน (Carnelian) ด้วยวิธีการใช้กรดกำมะถันกัดให้เป็นลวดลาย มีแหล่งผลิตในประเทศอินเดีย ในภาคใต้ของประเทศไทยพบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และที่ควนลูกปัด จังหวัดกระบี่
 
     และยังมี ลูกปัดจำหลักลาย (etched bead) เป็นลูกปัดที่ตกแต่งเขียนลวดลายลงในผิวของลูกปัด ลูกปัดแบบมีตา (eyed bead) จะมีจุดสีขาวและสีดำซ้อนกันคล้ายดวงตาอยู่โดยรอบ บนพื้นสีเข้ม
 
     นอกจากนี้ ยังพบงานประติมากรรม (sculpture) งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นด้วยการแกะสลัก การปั้น การหล่อ หรือวิธีอื่น ทำให้เกิดรูปทรงที่มีปริมาตร ในพื้นที่ภาคใต้จะพบประติมากรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีความงดงามจำนวนมาก ทั้งแกะสลักจากหินและประติมากรรมที่หล่อจากโลหะสำริด เป็นต้น
 
     >>> มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ "โบราณวัตถุ” ชมภาพพร้อมคำบรรยาย คลิก www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/210165c.pdf  
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)