
วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ ๓ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบและพรุบางน้อย สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้ขอที่ดินจากพระยาเดชานุชิต ที่ทางกรุงเทพมหานครแต่งตั้งมาปกครองรัฐกลันตัน เดิมเรียก วัดท่าพรุ หรือ วัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดชลธาราสิงเห” ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยขุนสมานธาตุวิสิทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบ ที่มีความหมายว่า วัดริมน้ำ ที่สร้างด้วยพระภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ (พระครูโอภาสพุทธคุณ)
ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ท่านอาจารย์พุดได้สร้างพระอุโบสถแทนโบสถ์หลังเดิมที่อยู่กลางแม่น้ำ โดยมอบให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างและเขียนภาพในพระอุโบสถ พระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ชาวสงขลาช่วยกันเขียนภาพในพระอุโบสถ ในกุฏิ และสร้างพระประธานในพระอุโบสถ สร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. ๒๔๒๖
พระอุโบสถ หันหน้าไปทางลำน้ำตากใบ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารเครื่องก่อ หลังคาซ้อนชั้นทางด้านหน้าและหลังพระอุโบสถ มีชายคาปีกนกลดหลั่นลงมา ๓ ชั้น มีเสานางเรียงสี่เหลี่ยม ไม่มีบัวหัวเสารองรับเชิงชาย เครื่องบน เครื่องลำยองมีช่อฟ้า ตัวลำยอง ใบระกา หางหงส์ อันเป็นการประดับตกแต่งแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานชาวบ้านเรียก หลวงพ่อใหญ่ ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติ ภาพไตรภูมิ ภาพเทพชุมนุม นอกจากนี้ยังมีภาพแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนตากใบ เช่น ชาวจีนกำลังแบกสินค้า เรือนแพแบบต่าง ๆ แพะซึ่งเป็นสัตว์ที่เลี้ยงในชุมชน เป็นต้น ด้านนอกพระอุโบสถประกอบด้วย ใบเสมาและซุ้มเสมา กำแพงแก้วและซุ้มกำแพงแก้ว นอกจากนี้ ยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกหลายอย่าง ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลจาก ตะวันตก คือ การประดับลวดลายไม้ฉลุ เรียกว่า ลวดลายขนมปังขิง
อนึ่ง วัดชลธาราสิงเหนี้ ได้ชื่อว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” เนื่องจากในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้มีการปักปันเขตแดนกับอังกฤษ ซึ่งอังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดน เข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห ๒๕ กิโลเมตร รัชกาลที่ ๕ จึงทรงโต้แย้งว่า วัดชลธาราสิงเห เป็นวัดไทยที่มีความสำคัญเป็นมรดกทางพุทธศาสนา ฝ่ายอังกฤษจึงยอมรับและเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำโกลก ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโกลก อยู่ในเขตการปกครองของไทยจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ภาพ : PPTV HD 36