กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน ตำนาน “โนราคนแรกของมนุษยชาติ”

วันที่ 24 ธ.ค. 2564
 

     เรื่องเล่าขาน ตำนานชีวิตของโนราคนแรก หรือ ครูต้นโนรา มีอยู่หลากหลายกระแส กระแสหนึ่งจากสำนวนพิธีกรรมโรงครูของชาวบ้าน โดย โนราพุ่ม เทวา หรือ ขุนอุปถัมภ์นรากร ได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ เรื่อง "โนรา” สรุปความได้ดังนี้
 
     มีกษัตริย์เจ้าเมืองพระนามว่า พระยาสายฟ้าฟาด มีพระราชธิดาชื่อ นางนวลทองสำลี คืนหนึ่งนางฝันเห็นกินนรมาร่ายรำให้ชม ลีลาท่ารำของกินนรงดงามมหัศจรรย์มาก ทำให้นางจดจำท่ารำทั้ง ๑๒ ท่าไว้ได้ ขณะที่ร่ายรำมีเสียงดนตรีบรรเลงประกอบด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงร่ายรำตามลีลาและท่าทางตามความฝัน และเสวยเกสรดอกบัวเป็นอาหาร ต่อมานางได้ตั้งครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ พระยาสายฟ้าฟาดโกรธมากจึงสั่งเนรเทศรพระธิดาพร้อมบริวารให้ลอยแพออกไปจากเมือง
 
     แพของนางนวลทองสำลี ลอยออกไปในทะเลสาบใหญ่และไปติดที่เกาะกะชัง (ในทะเลสาบสงขลา) หลังจากนั้นนางได้ให้กำเนิดพระโอรสและสอนให้พระโอรสร่ายรำลีลาตามท่าทางของกินนรตามที่ได้ฝัน พระโอรสได้แอบหนีออกมาร่ายรำในเมือง ความทราบถึงพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งให้พาเด็กชายเข้าวังเพื่อมาร่ายรำให้ชม ทำให้พระยาสายฟ้าฟาดประทับใจในการร่ายรำที่งดงามอย่างมาก ที่สำคัญหน้าตาของเด็กน้อยยังคล้ายคลึงกับพระธิดาของตน ภายหลังจึงรู้ความจริงว่าเด็กคนนี้เป็นหลานของตนนั่นเอง พระยาสายฟ้าฟาดจึงได้มอบเครื่องต้นและเทริดให้แก่เด็กน้อย และแต่งตั้งให้เป็น "ขุนศรีศรัทธา” เพื่อเป็นศิลปินที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการร่ายรำของอาณาจักร ต่อมาขุนศรีศรัทธาได้รับรับการยกย่องเป็น "บรมครูโนราผู้ยิ่งใหญ่” ที่เหล่านักแสดงโนราต่างนับถือสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
 
อ้างอิง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือ โนรา ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต , พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)