กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน รอยอารยธรรมศรีวิชัย “พระบรมธาตุไชยา”

วันที่ 10 ธ.ค. 2564
 

 

     "พระบรมธาตุไชยา” ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุไชยา ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และพระราชทานนามว่า "วัดพระบรมธาตุไชยา”
 
     สันนิษฐานว่าพระบรมธาตุไชยาสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดขนาดย่อมคล้ายกับจันทิ หรือเจดีย์ในศิลปะชวา เรือนธาตุมีผังเป็นรูปกากบาท มีมุขทั้ง ๔ ด้าน ลักษณะเป็นมุขตันย่อมุม ออกมาจากกลางด้านของผนังเรือนธาตุ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นสู่ห้องโถงกลาง ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัสตกแต่งด้วยเสาติดผนังลดเหลี่ยม ๑ ชั้น วางอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ซ้อนกัน ๒ ชั้น ส่วนฐานอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินปัจจุบัน
 
     มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุ มีบันไดทางขึ้นสามารถเดินขึ้นไป นมัสการพระพุทธรูปภายในองค์เจดีย์ได้ในห้องโถงกลาง ผนังเรือนธาตุเดิมก่ออิฐไม่สอปูนลดหลั่นกัน ขึ้นไปถึงยอดที่มุมของมุขแต่ละด้านทำเป็นเสาติดอาคาร เหนือมุขเป็นซุ้มหน้าบันประดับลายปูนปั้น วงโค้งรูปเกือกม้า หรือที่เรียกว่า "กุฑุ” เหนือเรือนธาตุมีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนชั้นขึ้นไป ๓ ชั้น โดยการจำลองย่อส่วนอาคารเบื้องล่างลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยสถูปจำลอง ชั้นละ ๘ องค์ รวม ๒๔ องค์ ส่วนยอดนั้นได้รับการดัดแปลงช่วงบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๕
 
     ภายในวัดพระบรมธาตุไชยา ยังพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงปัจจุบัน เช่น พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปสำริด พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปศิลาทรายแดงศิลปะอยุธยา แสดงให้เห็นว่าวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์รวมความศรัทธาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
     >>> รอยอารยธรรมศรีวิชัย "พระบรมธาตุไชยา” ชมภาพพร้อมคำบรรยาย คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/101264a.pdf
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)