
เมืองโบราณยะรัง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปวงรี ประกอบด้วยเมืองโบราณสำคัญ ๓ เมือง ได้แก่ เมืองโบราณบ้านวัด เมืองโบราณ บ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านประแว สันนิษฐานว่าบริเวณเมืองโบราณบ้านวัดและเมืองโบราณ บ้านจาเละอาจเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จากนั้นพัฒนามาเป็น ศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ดังเห็นได้จากการสร้างเมืองที่มีคูน้ำคันดินและป้อมสี่มุมเมืองที่บริเวณเมืองโบราณบ้านประแว และมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑
บริเวณเมืองโบราณยะรัง พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น แท่นหินบดที่กูโบร์ร้าง กอตอกะจิ อำเภอยะรัง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ แม่พิมพ์หินทรายสำหรับหล่อต่างหูและแหวนบริเวณบ้านวัด ศิวลึงค์ ๒ องค์ พบบริเวณบ้านวัดและคูเมืองทางด้านตะวันตกของเมืองประแว พระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ พระพุทธรูปยืนปางประทานพร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕ พระสุริยะสำริดพบที่บ้านกูวิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ เหรียญเปอร์เซีย เหรียญทองขุดพบในบ่อน้ำด้านหน้าวัดสุขาวดี เป็นรูปสัตว์สี่เขาเขียน อักษรอาหรับ ว่า "มาลิค” สร้างในสมัย คอลิฟะ โอมิยะ อัลมาลิค ประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๘ - ๑๒๔๘ ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น กุฑุ หรือซุ้มเรือนแก้ว หน้าจั่ว ชิ้นส่วนประตูธรณี เป็นต้น
เมืองโบราณพระเวียง ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงเมืองพระเวียงราวศักราช ๑๒๐๐ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าสร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๙ และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องสืบมา มีวัดสำคัญ ได้แก่ วัดสวนหลวงตะวันออก (ร้าง) ปัจจุบันเป็น ที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และวัดเสด็จ (ร้าง) ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของวัดส่วนหลวงตะวันออก ปัจจุบันคือที่ตั้งหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช โบราณวัตถุที่พบในเมืองพระเวียงมีหลากหลายประเภท อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๙ สันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณนี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนโบราณกลุ่มคลองท่าเรือ โบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกันและแหล่งโบราณคดีต่างตั้งอยู่บนสันทรายเดียวกัน และจากหลักฐานกล่าวได้ว่า เมืองพระเวียงอาจพัฒนาจากเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และกลายเป็นเมืองท่าค้าขายกับชุมชนภายในและภายนอกประเทศในยุคอดีตที่รุ่งเรือง
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒ #ศรีวิชัย #เมืองโบราณยะรัง #มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ #มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม #กรมส่งเสริมวัฒนธรรม