
แหล่งโบราณคดีถือเป็นสถานที่สำคัญของการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมวิถีชีวิตของท้องถิ่น จากการก่อร่างจากชุมชนเล็กๆ ขยายพัฒนาเป็นเมืองเป็นอาณาจักรที่มีความสำคัญ แม้จะล่มสลายไปตามกาลเวลา แต่ยังเป็นแหล่งสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนในปัจจุบัน บ่งชี้ให้เห็นที่มาที่ไปรากเหง้า อันเป็นมรดกภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การรักษาและสืบทอด
เมืองโบราณไชยา ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่ง เชื่อว่าอาจเป็นเมืองศูนย์กลางในอดีตของอารยธรรมศรีวิชัย เมืองนี้ ตั้งอยู่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณแนวฝั่งริมแม่น้ำและสันทรายใกล้ชายฝั่งทะเล โดยชุมชนน่าจะมีพัฒนาการมาจากกลุ่มชนชายฝั่งทะเลบริเวณแหลมโพธิ์ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ ภายหลังจึงสร้างชุมชนขึ้นบริเวณพื้นที่สันทรายด้านในและตามแนวลำน้ำโดยพื้นที่บริเวณนี้ได้ กลายเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและศาสนา อันได้แก่ บริเวณวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง ชุมชนโบราณไชยานี้ เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญดังได้พบโบราณวัตถุต่างถิ่นจำนวนมาก อีกทั้งน่าจะมีการติดต่อกับชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนโบราณท่าชนะ ชุมชนโบราณพุนพิน ชุมชนโบราณเวียงสระ เป็นต้น
บริเวณเมืองไชยา พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๓ เช่น พระพุทธรูปคล้ายคลึงกับศิลปะทวารวดี พบที่แหล่งโบราณคดีวัดโพธาราม แหล่งโบราณคดีวัดเวียง และ แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ส่วนโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพราหมณ์ เช่น กรอบประตู ธรณีหิน วิษณุ ศิวลึงค์ โยนิโทรณะ พระสุริยะเทพ พระคเณศ พบที่แหล่งโบราณคดีวัดใหม่ชลธาร วัดพระบรมธาตุไชยา วัดศาลาทึง วัดแก้ว วัดอิฐ เป็นต้น สันนิษฐานว่าในช่วงเวลา ดังกล่าว ชุมชนโบราณไชยานับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย
ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พุทธศาสนามหายานได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเจริญสูงสุด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ส่งผลให้ศาสนาฮินดูค่อยๆ ลดบทบาทลง โบราณสถานสำคัญ เช่น วัดพระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว วัดหลง วัดเวียง เป็นต้น จากการพบโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของไชยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ นักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าไชยาอาจเป็นศูนย์กลางหรือเมืองที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยศรีวิชัย
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒