
วัดทองธรรมชาติ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องท่าข้ามเหนือวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) เลขที่ ๑๔๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
วัดทองธรรมชาติ เป็นวัดราษฎร์มาแต่โบราณ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง แต่เดิมชื่อ "วัดทอง” ในบริเวณมีอีกวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีชื่อว่า "วัดทอง” (วัดทองนพคุณ) เหมือนกัน คนทั่วไปจึงเรียกวัดทองธรรมชาติซึ่งอยู่บริเวณเหนือน้ำขึ้นไปว่า วัดทองบน ส่วนวัดทองนพคุณเรียกว่า วัดทองล่าง เนื่องจากอยู่ตอนใต้ลงมา วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องเรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหลัง พร้อมทั้งซ่อมแซมโบราณวัตถุ โบราณสถานภายในวัดอีกหลายครั้ง ภายในพระอุโบสถพบว่ามีจิตรกรรมฝาผนังทรงคุณค่าฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ – ๔
ภายในวัดทองธรรมชาติยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ พระวิหาร และ หอไตร
พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ ตัวอาคารจะตั้งขวางกับพระอุโบสถ หน้าบันมีการแกะสลักลายปูนปั้นรูปดอกไม้ วิหารเป็นศิลปกรรมแบบจีนนิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ภายในจะประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ บริเวณฝาผนังตอนบนเขียนจิตรกรรมลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนตอนล่างปรากฏร่องรอยการเขียนสีเช่นเดียวกันแต่อยู่ในสภาพลบเลือน หอไตร ตั้งอยู่ทิศเหนือของพระอุโบสถ เป็นอาคารไม้สักอยู่กลางสระน้ำ หน้าบันจำหลักไม้ลายเทพนมอายุเก่าแก่
โดยพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติตั้งหันหน้าออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกลาง ทรงโรงหรือทรงวิลันดา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกลายเทพนม ประกอบด้วยลายก้านขด มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีประตูด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ ๒ บาน เจาะช่องหน้าต่างมีด้านละ ๕ ช่อง ด้านหลังประตูหน้าต่างเขียนรูปทวารบาลยืนพนมมือบนฐาน เฉพาะที่ประตูเขียนภาพมารแบบจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ที่ทำด้วยปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๔ นิ้ว และมีพระอัครสาวกประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน...
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓