
ศิลปะศรีวิชัย” ร่องรอยของศิลปกรรมแบบศรีวิชัย มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณะของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ ล้วนแสดงถึง ภูมิปัญญาอันสูงส่งของบรรพชนในคาบสมุทรภาคใต้ ที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาในพุทธศาสนามหายาน
"ศิลปกรรมแบบศรีวิชัย” แบ่งออกได้เป็น ๓ หมวดหมู่ใหญ่ ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ ดังนี้
สถาปัตยกรรม ที่สำคัญในศิลปะศรีวิชัย ส่วนใหญ่พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น พระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว และวัดหลง ซึ่งจากหลักฐานที่เหลืออยู่ของวัดแก้วและวัดหลงไม่สามารถกำหนดขอบเขตของอารามเดิมได้ เพราะพบร่องรอยเพียงฐานอาคาร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นฐานสถูปเท่านั้น ส่วนที่พระบรมธาตุไชยา ได้รับการบูรณะมาโดยตลอด จึงยังคงสภาพของสถูปที่แสดงลักษณะของศิลปกรรมที่รับรูปแบบวิหารในอินเดียใต้ ที่สร้างส่วนฐานเป็นรูปมณฑปมีหลังคาซ้อนชั้น ส่วนยอดเป็นรูปสถูปและสร้างสถูปจำลองประดับตามมุมของชั้นหลังคาลดหลั่นกันแต่ละชั้น มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕
ประติมากรรม เป็นประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนามหายานเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ส่วนที่เป็นเทวรูปในศาสนาฮินดูนั้นมีอยู่บ้าง โบราณวัตถุเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ หลังคุปตะ และปาละ - เสนะ ตามลำดับ ส่วนมากสลักด้วยศิลาหรือหล่อด้วยสำริด มีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึง กับศิลปะชวาภาคกลาง
ประณีตศิลป์ จากการติดต่อค้าขายกับต่างชาติทำให้พบหลักฐานสำคัญ คือ ลูกปัดแก้ว มีตาจากตะวันตก ซึ่งเป็นลูกปัดโรมัน และแหวนตรารูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมากตามแหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในภายหลังจึงสามารถผลิตลูกปัดได้เอง ดังได้พบแหล่งผลิตลูกปัดสำคัญที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม ซึ่งลูกปัดนี้ นับเป็นเครื่องประดับสำคัญที่ใช้สืบเนื่องมา พบเห็นได้ชัดในรูปแบบการแต่งกายของพระโพธิสัตว์ และอาจรวมถึงใช้เป็นเครื่องแต่งกายของโนรา
อารยธรรม "ศรีวิชัย” เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ อันเป็นผลจากการเป็นคนกลาง ในการค้าขายและการยอมรับระบบบรรณาการของจีน ดังนั้นเมื่อจีนเปลี่ยนนโยบายการค้าในสมัยราชวงศ์ซุ้งตอนปลาย โดยส่งเรือลงมาค้าขายโดยตรง ทำให้เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรที่เคยอยู่ใต้อำนาจของศรีวิชัย มีความเข้มแข็งขึ้น เช่น ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ประกาศตนเป็นอิสระอย่างชัดเจน ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๗๓ ทั้งยังรวบรวมเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทร เป็นเมือง ๑๒ นักษัตร ประกอบด้วย เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปะหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทสมอ เมืองสงขลา เมืองตะกั่วป่า และเมืองกระบี่ นั่นเอง
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
?xml:namespace>