
ปัจจุบันการแสดงโนรา มี ๒ รูปแบบ คือ เพื่อพิธีกรรมที่เรียกว่า โนราโรงครูและการแก้บน และการแสดงเพื่อความบันเทิงและพิธีเปิดในงานต่างๆ การแสดงโนรามีเอกลักษณ์เด่นชัดทั้งท่ารำที่สวยงามกระฉับกระเฉง เครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่มีความสนุกสนานให้จังหวะเร้าใจ มีบทร้องที่สะท้อนความเป็นคนใต้ ตลอดจนมีการแต่งกายที่มีความสดใสและสวยงามทั้งตัว ซึ่งเครื่องประดับอย่างสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงความเป็นโนรา คือ "เทริด” ซึ่งเป็นเครื่องประดับศักดิ์สิทธิ์และเป็นของสูง สมัยก่อนโนราคณะหนึ่งๆจะมีเทริดเพียงยอดเดียว เพราะถือกันว่าเทริดเป็นที่สถิตของครู สำหรับโนราบางท่าน เทริดมีศักดิ์เท่ากับมงกุฎ เพราะเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ ขณะสวมเทริดอยู่จะไม่กราบไหว้ผู้ใดจะไหว้ก็ต่อเมื่อถอดเทริดออกแล้วเท่านั้น โดยผู้ที่สวมเทริดได้ต้องผ่าน พิธีผูกผ้าใหญ่ครอบเทริด หรือผ่านพิธีสอดเครื่อง แต่ในปัจจุบันโนราคณะหนึ่งๆนางรำมักสวมเทริดกันแทบทุกคน
เทริด คือ เครื่องสวมใส่บนศรีษะนายโรงใหญ่หรือโนราใหญ่ หรือตัวยืนเครื่อง ในการแสดงโนรา มีลักษณะคล้ายมงกุฎปลายมียอดเรียว ตกแต่งด้วยดอกเทริดที่มีลักษณะคล้ายๆคลีบบัวเล็กๆโดยรอบ มีกรอบหน้าและหูเทริด ถ้าเป็นเทริดที่เข้าพิธีแล้วจะมีด้ายมงคลตกแต่งประดับไว้ "เทริด” ถือเป็นของสูง ที่คณะโนราต้องใช้ในพิธีไหว้ครูหมอในพิธีกรรมโนราโรงครู สันนิษฐานว่า "เทริด” อาจมีต้นเค้าจากรัดเกล้าของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยในสมัยอยุธยา ที่นิยมสร้างแบบแต่งองค์ทรงเครื่องประดับลวดลาย สวมเทริดหรือศิราภรณ์ ยอดมงกุฎเป็นชั้นอันงดงาม มีกุณฑล (ตุ้มหู) สังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง สนับเพลา รองพระบาท ฯลฯ ศิลปะทางภาคกลางเหล่านี้ได้แพร่กระจายมาสู่ภาคใต้ ซึ่งสามารถเห็นได้จากพระพุทธรูปทรงเครื่องในนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง ที่มีการสวมศิราภรณ์แบบชั้นเดียวคล้ายเทริดโนรา เฉกเช่นเดียวกับศิลปกรรมในสมัยอยุธยา
โดยองค์ประกอบของเทริด มีดังนี้
๑. เพดานเทริด เป็นส่วนประกอบของเทริดด้านบนทำจากไม้ที่มีนามเป็นมงคลและมี คุณสมบัติคือมีน้ำหนักเบา เช่น ไม้รัก ไม้ยอ ไม้ทองหลาง ไม้ตีนเป็ด เป็นต้น นำไม้ลักษณะดังกล่าวมา ตัดเป็นแผ่นหนาประมาณ ๑.๕๐ นิ้ว นำมากลึงให้มีลักษณะกลมโค้งเข้ากับรูปศีรษะ อยู่ด้านบนของ ศีรษะผู้สวม ซึ่งเป็นข้อต่อระหว่างตัวเทริดกับยอดเทริด ตรงกลางของเพดานเทริด จะเจาะรูเพื่อให้ เป็นที่สอดยอดเทริด
๒. ตัวเทริด เป็นตัวโครงเทริดพันรอบเพดานปกปิดศีรษะของผู้สวม ทำจากไม้ไผ่สานเป็น ลายสอง หรือลายลูกแก้วก็ได้มาดัดให้โค้งขนาดพอครอบศีรษะได้ ช่างทำเทริดบางคนก็สามารถนำไม้ เนื้ออ่อนอื่น ๆ มาแกะเป็นรูปทรงเทริดก็ได้ แต่มีความเชื่อว่าจะต้องเป็นไม้ที่มีนามเป็นมงคลและใน ปัจจุบันนั้นมักจะใช้สังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองมาดัดเป็นตัวเทริดก็มี
๓. หูเทริด เป็นส่วนประกอบตกแต่งเทริดมีลักษณะเป็นแผ่นไม้บาง ๆ ติดอยู่ ๒ ข้าง ทั้ง ทางซ้ายและทางขวา มักทำ จากไม้รัก หรือไม้ยอ หรือทำจากทองเหลืองก็มี
๔. ทูเทริด เป็นไม้ชิ้นเล็ก ๆ ประกอบติดกับตัวเทริดด้านในตรงกับหูเทริด ทำจากไม้ไผ่ เหลาใช้ดามตรึงส่วนด้านในของตัวเทริดกับหูเทริด ความยาวของทูเทริดนั้นจะขึ้นอยู่กับเพดานกับจอนหู
๕. ยอดเทริด เป็นส่วนที่แหลมอยู่ด้านบนสุดของตัวเทริด ทำจากไม้เช่นเดียวกับไม้ที่นำมา ทำเพดานเทริด นำมากลึงให้ฐานใหญ่กะประมาณสวยงามประกอบเป็นชั้นประมาณ ๓ ชั้น จากใหญ่ไป เล็ก ส่วนปลายค่อย ๆ แหลมขึ้นด้านบน
๖. กระจัง เป็นเครื่องประดับลักษณะคล้ายดอกไม้ไหว ทำจากหนังวัว หรือหนังควายบาง ๆ ตัดให้โค้งขึ้นคล้ายกลีบบัวอยู่รอบ ๆ เพดานเทริดด้านบน แต่เทริดที่สร้างในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ช่างเก่า) จะมีลักษณะคล้ายกับรูปองค์พระมหาธาตุ โดยในหนึ่งยอดเทริดจะมีตัวกระจังกี่ตัวไม่กำหนด ดูตามความสวยงาม แต่จากที่เห็นจะมี ๓ ชั้น โดยแต่ละชั้นจะวางสลับกันไปตามความสวยงาม ชั้นนอกสุด เป็นตัวกระจังที่โตกว่าด้านในตัดเป็นรูปพระธาตุเมืองนครแล้วลงรักปิดทอง แต่ชั้น ๒ และชั้น ๓ จะเป็น รูปพระมหาธาตุองค์เล็กกว่าทำเฉพาะสีเหลือง
๗. ดอกไม้ไหว เป็นองค์ประกอบตกแต่งบนเพดานเทริด เป็นดอกไม้ที่ดัดจากเส้นลวดเป็นชั้น ๆ ส่วนโคนปักไว้กับเพดานเทริด ส่วนบนติดกับหนังวัวและประดับกระจกเพื่อให้เกิดความวาว เมื่อโดนกับแสงไฟจะทำ ๓ ชั้น สลับกับตัวกระจัง
๘. ด้ายมงคล เป็นด้ายกลุ่มสีขาวเส้นเล็ก ๆ ซึ่งจะพันอยู่บนเพดานเทริดโดยเฉพาะเทริด ที่เข้าโรงครูโนราแล้วเท่านั้น แต่ถ้าเทริดยังไม่ได้เข้าโรงครูโนราก็จะไม่มีด้ายมงคล ๓๘
๙. อุบะรักร้อย เป็นดอกไม้เล็ก ๆ ที่นำมาร้อยกับเส้นด้ายแล้วรวมเป็นพวง ทำจากกระดาษ สีมาพับเป็นดอกพิกุลเล็ก ๆ แล้วร้อยเป็นเส้นจากนั้นจึงเอามาร้อยเป็นพวง ห้อยระหว่างหูเทริดข้างใด ข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ (จะเห็นได้ในบางเทริดเท่านั้น)
...........................................
ภาพ : อดุล ตัณฑโกศัย