กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน รอยอารยธรรมศรีวิชัย “ศาสนา - ความเชื่อ”

วันที่ 8 ต.ค. 2564
 

     ศาสนาและความเชื่อในศรีวิชัย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ปรากฏหลักฐานการเผยแผ่ พุทธศาสนาจากอินเดียมายังเกาะสุมาตราและชวา โดยพระภิกษุคุณวรมันจากแคชเมียร์ได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายมูลสรวาสติวาท ซึ่งเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่ใช้ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๙๖๖ สอดคล้องกับบันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่ว่าพุทธศาสนาในประเทศแห่งทะเลใต้ แทบทั้งสิ้นเป็นแบบเถรวาท ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระธรรมปาละ ซึ่งเคยไปศึกษาพระธรรม ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาได้กลับมาเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบนี้ ต่อมาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พระภิกษุจากอินเดียใต้ คือ พระวัชรโพธิ ได้เดินทางมาเผยแผ่ลัทธิตันตระ ที่เกาะชวาและสุมาตรา
 
     ส่วนบนคาบสมุทรมลายู พบหลักฐานพุทธศาสนาที่มีอายุเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ เช่นกัน โดยใช้เส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนาข้ามคาบสมุทรหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางสายตะกั่วป่าและคลองท่อมไปออกอ่าวบ้านดอน ซึ่งมีศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ คือ เมืองไชยา ดังได้พบหลักฐานเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคุปตะ พบที่เมืองไชยาและเมืองเวียงสระ
 
      รูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบในดินแดนคาบสมุทร เรียกกันในชื่อ "ศิลปะศรีวิชัย” ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา มีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะชวาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ จึงเป็นหลักฐานสำคัญแสดงว่า พุทธศาสนาของศรีวิชัยเป็น พุทธศาสนามหายาน ต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศ์ไศเลนทร์ที่ปกครองศรีวิชัยและชวาเป็นองค์อุปถัมภ์ของพุทธศาสนาสกุลวัชรยาน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชวงศ์ปาละ
 
      จากการที่ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้แพร่หลายมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เหตุนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างศาสนสถานบนคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ ทั้งนี้ ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาได้พบจารึก พ.ศ. ๑๔๐๓ กล่าวว่า พระเจ้าพลบุตรเทวะ กษัตริย์แห่งศรีวิชัย เชื้อสายราชวงศ์ไศเลนทร์ เป็นผู้สร้างวัดไว้สำหรับผู้แสวงบุญชาวศรีวิชัยที่ไปศึกษาพระธรรมที่นั่น และพระเจ้าเทวปาละ ได้มอบรายได้จากหมู่บ้านจำนวนหนึ่งเป็นค่าดูแลรักษา หลักฐานดังกล่าวแสดงถึง ความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างศรีวิชัยและอาณาจักรปาละ ได้เป็นอย่างดี
 
     >>> รอยอารยธรรมศรีวิชัย "ศาสนา - ความเชื่อ” เรื่องราวพร้อมภาพประกอบ คลิก http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/081064b.pdf 
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)