
มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง คือ การแสดงพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมที่ผสมผสานศิลปะการร่ายรำกับพิธีกรรม ความเชื่อ การละคร นาฏศิลป์ และดนตรีเข้าด้วยกัน มักจะแสดงเพื่อความบันเทิง และการสะเดาะเคราะห์ โดยการแสดงมะโย่งมีลีลาการแสดงคล้ายคลึงกับการแสดงโนรา ซึ่งจะพบการแสดงนี้ในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ยังมีการแสดงมะโย่ง ในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเกดะห์ และรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะริเยา ในประเทศอินโดนีเซีย ว่ากันว่าการแสดงประเภทนี้เคยแสดงในวังรายาปัตตานีมาไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี มาแล้ว โดยใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงยกเว้นตัวตลกเป็นผู้ชาย
องค์ประกอบในการแสดงมะโย่ง ประกอบด้วย
๑.เวทีแสดง หรือ โรงแสดง ภาษาถิ่นมาลายู เรียกว่า "ปาฆง " กว้างยาวประมาณ ๕×๖ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือด้านหน้าใช้เป็นเวทีการแสดง ตรงกลางเป็นม่านกั้นสำหรับปล่อยตัวนักแสดง ส่วนด้านหลังจะเป็นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์การแสดงและเป็นที่แต่งกายตัวแสดง เช่นเดียวกับลิเกและการละเล่นอื่นๆที่ใช้หลังเวทีแต่งกายของตัวละคร
๒.เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กันดังหรือกลองแขก ๑ คู่ ซอสามสาย ๑ คัน ซึ่งภาษามาลายูท้องถิ่นเรียกว่า "รือบับ" ไวโอลิน ๑ ตัว ฆ้อง ๑ คู่ แตระหรือแกละ ๑ พวง
๓.นักแสดง โดยผู้แสดงมะโย่งคณะหนึ่งมีประมาณ ๑๐-๑๕ คน มีบอมอ (ครูหมอ) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม มีลูกคู่ (นักดนตรี) จำนวน ๕- ๗ คน นอกนั้นเป็นผู้แสดงและเป็นผู้ช่วยผู้แสดงบ้าง ผู้แสดงหรือตัวละครสำคัญมีอยู่ ๔ ตัวคือ ประกอบด้วย
ตัวพระ หรือ มะโย่ง แสดงเป็นพระเอก ในฐานะที่เป็นกษัตริย์หรือเจ้าชาย ใช้ผู้หญิงรูปร่างนางแบบ หน้าสวย ขับกลอนเก่ง น้ำเสียงดีเป็นผู้แสดง แต่งกายด้วยกางเกงขายาว นุ่งโสร่งพับครึ่งท่อนความยาวเหนือเข่าสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น สวมมงกุฎ (กอฎอ) กรองคอ (ลา) เหน็บกริช ไว้ที่ข้างสะเอวขวาและถือมีดทวายหรือไม้เรียวอันหนึ่งเพื่อใช้ตีหัวเสนา
ตัวนาง แสดงเป็นนางเอกมีฐานะเป็นเจ้าหญิงหรือสาวชาวบ้าน การแต่งกายจะเปลี่ยนไปตามฐานะ ถ้าเป็นชาวบ้านจะนุ่งผ้าปาเต๊ะยางกรอมเท้า สวมเสื้อเข้ารูป หรือสวเสื้อกะบายอแขนยาว(เสื้อแขนกระบอก) เป็นผ้าสีที่มีดอกขนาดใหญ่และมีผ้าสไบคล้องคอ ถ้ามีฐานะเป็นเจ้าหญิงจะสวมมงกุฎ มีสร้อยข้อมือ กำไลเท้าและสวมแหวนหลายวง
ปิรันมูดอ คือ ตัวตลกตัวที่ ๑ มีฐานะเป็นเสนาหนุ่ม คนสนิทของเปาะโย่ง
ปืนรันดูวอ คือ ตัวตลกตัวที่๒ มีฐานะเป็นเสนาอาวุโส คนสนิทตัวรองของเปาะโย่ง สนิทสนมกับปือรันมูดอ และเป็นตัวคอยที่สนับสนุนให้ปีรันมูดิสามารถจี้เส้นได้มากขึ้น การแต่งกายของปิรันมูดอและปีรันดูวอ คือ นุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง นุ่งผ้าทับแค่เข่าโพกศรีษะหรือสวมหมวกซอเกาะ
ลักษณะการแสดงและเรื่องที่นิยมใช้แสดงมะโย่ง เมื่อตัวพระหรือมะโย่งนั่งเป็นแถวหน้ากระดานหันหน้าเข้าหาคนสีซอแล้วร้องเพลงไปตามจังหวะเสียงซอ ต่อมาลุกขึ้นยืนร่ายร่ำร้องเพลงไปกลางเวที เป็นลักษณะทำนองรำเบิกโรง จากนั้นทุกคนจะกลับไปนั่งรอคอยบทการแสดงของตน ลำดับต่อมามะโย่งหรือเปาะโย่ง ร้องเพลงเรียกหาเสนาเป็นทำนองโอดครวญว่าเกิดความทุกข์ยาก ขอให้เสนารีบออกมาช่วยเหลือ "อาวัง" ตัวตลกหรือเสนาคนใดคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาแสดงก่อนแล้วขานรับ แต่คำขานรับมักไม่สุภาพเพราะยังไม่ทราบชัดว่าผู้ใดเรียกตนเลยพูดจาด้วยถ้อยคำตลกโบกฮา แม้จะประจันหน้ากันรายาก็แสร้งทำไม่รู้จัก จนรายาใช้แส้แตะที่แขนหรือขาเบาๆ ทำให้ตัวตลกซึ่งมีท่าท่างสะลืมสะลือรู้สึกตัวเองนั่งลงยกมือไหว้ แล้วเจรจาพาทีเข้าสู่เรื่องที่แสดง ซึ่งเรื่องที่ใช้แสดงนั้นจะมีทั้งเรื่องที่แต่งขึ้นเองและเรื่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวา อินเดีย และจากนิยายพื้นบ้านของไทย โดยนิยมแสดงเกี่ยวกับนิยายเก่าแก่ที่แสดงออกถึงความรักของชายหนุ่มกับหญิงสาว อาทิ รายอแดวอมูดอ (เรื่องว่าวบุหลัน),รายอปุตรีตีมุงมูดอ (เรื่องจ้าหญิงแตงกวา),รายอกอแน (เรื่องเจ้าชายหอยทอง),รายอปี แนมาวง (เรื่องเจ้าชายปี แนมาวง),รายอเซินญาญอ (เรื่องเจ้าชายผู้ทรงกรุณาปราณี),รายอมูดอลือมะ (เรื่องเจ้าชายอัมพาต), รายอมูดอลาเลง (เรื่องเจ้าชายแห่งการพนัน) รายอเซอเซนารายอซีนาวง (เรื่องเจ้าชายฝาแฝดสองพี่น้อง),รายอแดวอสะตี (เรื่องเจ้าชายผู้วิเศษ) และรายอฮีเยา ฮีเยา (เรื่องเจ้าหญิงฮีเยา) เป็นต้น
ปัจจุบันด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหลายอย่าง กำลังจะสูญหายไปรวมถึงการแสดงมะโย่งด้วย เนื่องจากมีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยใหม่ๆหลายอย่างเกิดขึ้น ทำให้เกิดช่องทางในการเลือกเสพสื่อที่ให้ความบันเทิงเพิ่มขึ้น อีกทั้งกระแสความนิยมวัฒนธรรมต่างประเทศของคนรุ่นใหม่ก็เพิ่มขึ้นไปตามยุคสมัย ทำให้การแสดงมะโย่งที่เคยเป็นที่ชื่นชอบเมื่อครั้งอดีตนั้นเสื่อมความนิยมลง แต่ก็ยังพอมีให้ได้ชมบ้าง ในงานแก้บน รักษาไข หรือที่เรียกว่า ตือรี มะโย่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ สาขา ศิลปะการแสดง
..............................................
ขอบคุณที่มา : หนังสือ โนราศิลปะการร้อง รำที่ผูกผันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, https://bit.ly/39S2zi8, https://bit.ly/2Y4g8IF,