กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “กำลังใจ พลังขับเคลื่อนชีวิต”

วันที่ 30 ก.ย. 2564
 

 
     "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” แม้จะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ก็สามารถรับรู้ได้ผ่านการขับเคลื่อนของมันไม่ว่า จะออกมาในรูปคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ไมโครเวฟ เรดาร์ มือถือ ฯลฯ ต่างก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตทางด้านวัตถุทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ "กำลังใจ” แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่ก็สามารถสัมผัสถึงพลังพิเศษที่ช่วยผลักดันจิตใจของคนเราให้ก้าวเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะในยามท้อแท้ สิ้นหวังหรือประสบเคราะห์กรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 
     เขาบอกว่า "กำลังใจ” คือ สภาพจิตใจที่มีความเชื่อมั่น และกระตือรือร้นพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ทุกอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ หลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนในหนังสือชื่อ "กำลังใจ” ไว้ว่า การที่คนเราจะเผชิญชีวิตหรือฟันฝ่าอนาคตให้ลุล่วงไปด้วยดีนั้น เราจะต้องถือหลักที่ว่าความดีหรือไม่ดีเป็นสิ่งที่เราสร้างเอง และจะต้องให้อนาคตอยู่ในความควบคุมของเรา ซึ่งเพื่อการนี้จะต้องอาศัยกำลัง ๓ ประการ ได้แก่ กำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจ
 
     กำลังกาย หมายถึง การเป็นผู้มีอนามัยดี ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้น
     กำลังความคิด หมายถึง วิชาความรู้ และมันสมองที่ดี
     กำลังใจ หมายถึง สมรรถภาพ (ความสามารถ) ของดวงจิต ที่เป็นเครื่องส่งเสริมและควบคุมให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเหมาะสม
 
     ทั้งนี้ กำลังกายเป็นเรื่องของร่างกาย กำลังความคิดเป็นเรื่องของมันสมอง และกำลังใจเป็นเรื่องของดวงจิตโดยตรง กำลังทั้งสามนี้ มีความสำคัญเท่าๆ กัน ผู้ใดก็ตามมีพร้อมทั้งสามกำลัง นาวาชีวิตของผู้นั้น ย่อมแล่นไปได้ดี และบรรลุถึงที่หมายได้ไม่ยาก แต่หากจะขาดหรือบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ท่านว่า ขออย่าให้เป็นเรื่องขาดกำลังใจ เพราะถ้ากำลังกาย กำลังความคิดบกพร่อง แต่กำลังใจดี ยังอาจใช้กำลังใจแทนได้ แต่ถ้าขาดกำลังใจแล้ว จะเอากำลังกาย หรือกำลังความคิดมาทดแทนกำลังใจไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ กำลังใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
 
     เวลาที่เราเกิดปัญหา พบเจออุปสรรคในชีวิต จนเกิดความรู้สึกหดหู่ท้อถอย บางครั้งถึงขั้นอยากตายนั้น หากมีใครให้ "กำลังใจ” แก่เราไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือคำพูด เราจะรู้สึกอย่างไร แน่นอน เราย่อมรู้สึกดีขึ้น และหลายๆครั้งก็ทำให้เราเกิดความฮึดสู้ จนสามารถก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ เพราะกำลังใจ เป็นเหมือนพลังวิเศษที่อัดให้เรามีกำลังขึ้นมาใหม่ ทำให้มองเห็นความหวังที่จะเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- ๑๙ อย่างปัจจุบัน เราจะเห็นคนประสบปัญหาหนักหนาสาหัสมากมาย ขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยต่างได้พยายามหาทางให้กำลังใจซึ่งกันและกันอย่างหลากหลายรูปแบบ ทำให้หลายคนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีใจที่จะต่อสู้ต่อไป เป็นภาวะที่ทำให้เห็นว่า "กำลังใจ” เป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ
 
     โดยทั่วไป "กำลังใจ” จะมีอยู่ ๒ แบบ คือ
 
     ๑. กำลังใจแบบที่เกิดขึ้นเอง มักเกิดในสภาพจิตที่รุนแรง หรือเกิดจากความสะเทือนใจอย่างหนัก และมักให้โทษมากกว่าคุณ เนื่องจากเป็นกำลังใจที่เกิดจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธ ความกลัว ความตกใจ ความเกลียด และความหึงหวง เป็นต้น กำลังใจที่ว่านี้ ท่านว่าเป็นกำลังใจที่โลดโผน เกิดขึ้นชั่วแล่น แล้วก็ดับหายไป เช่น เวลาเกิดเพลิงไหม้ ความตกใจทำให้บางคนยกของหนักได้ ทั้งๆที่ยามปกติทำไม่ได้ หรือความโกรธทำให้ลูกจ้างแทงนายจ้างตายเพราะโมโหที่ถูกด่าเป็นประจำ เป็นต้น กำลังเหล่านี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของกำลังใจที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น เป็นอารมณ์ชั่ววูบ มักอยู่ไม่นาน และไม่ค่อยให้คุณ
 
     ๒. กำลังใจแบบที่เราก่อให้เกิดขึ้น หรือสร้างขึ้น เป็นกำลังใจที่ให้คุณ และมีความยั่งยืนกว่า เพราะเกิดจากดวงจิตที่ตั้งมั่น มีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ปล่อยไปตามยถากรรม เป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือความยากลำบากในชีวิต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนกำลังกาย และกำลังความคิดได้
อีกด้วย
 
      หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวว่า "กำลังใจ” เป็นโตโชธาตุ หรือไฟชนิดหนึ่ง หากเกิดขึ้นเองโดยปราศจากการควบคุมก็มักจะให้ผลร้ายมากกว่าดี เช่น ไฟจากภูเขาไฟระเบิด ไฟจากฟ้าผ่า หรืออัคคีภัย แต่ถ้าเป็นไฟที่เราก่อขึ้นใช้ให้เหมาะ เช่น ไฟในการหุงต้มอาหาร ไฟที่ก่อเพื่อแสงสว่าง ก็จะเป็นไฟที่มีประโยชน์อย่างอนันต์
 
     การที่เราจะทราบว่าใครมี "กำลังใจ” หรือไม่ ย่อมต้องมีเหตุแสดงให้เห็น เช่น เมื่อเป็นโรคร้ายแรง เมื่อประสบความล้มเหลวจากหน้าที่การงาน เมื่อผิดหวังจากความรัก ฯลฯ ถ้าเป็นคนที่มีกำลังใจดี เขาเหล่านั้นจะไม่กลัว แต่พร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรค ไม่ย่อท้อ ผิดกับคนที่ขาดกำลังใจ ที่มักจะมีลักษณะตรงข้ามคือจะเกิดความกลัว ความขลาดที่จะเผชิญปัญหา มักวิตกจริต หมดหวัง และซึมเศร้าหดหู่อยู่เป็นนิตย์ พูดง่ายๆว่า คนมีกำลังใจจะมองเห็น "ทุกปัญหามีทางออก” แต่คนขาดกำลังใจ จะมองเห็น "ทุกทางออกมีปัญหา”
 
     "กำลังใจ” เป็นสิ่งที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ และทำได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
 
     -การขจัดความกลัว ความกลัวเป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ เมื่อเกิดความกลัวจะบั่นทอนกำลังใจ ทำให้หย่อนความคิดและสติปัญญาไปด้วย ถึงมีความรู้ความสามารถก็ไร้ประโยชน์ เช่น คนเคยเป็นเศรษฐีแล้วล้มเหลวหรือล้มละลาย เกิดกลัวคนดูถูก กลัวความยากลำบาก ฯลฯ ก็จะทำให้ไม่กล้าเผชิญปัญหา บางคนถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มี โดยปกติ คนจะกลัวอยู่ ๔ เรื่อง คือ กลัวผี กลัวคน กลัวภัยเฉพาะหน้า และกลัวเหตุร้ายที่จะมาถึง หากคนใดมีความกลัวอยู่ในนิสัยหรือที่เรียกว่าคนขลาดนั้น ก็ยากจะประสบความสำเร็จ เพราะมัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่ ไม่กล้าก้าวออกไปสักที เราสามารถขจัดความกลัวได้ ๒ แบบ คือ ๑. แบบของพระพุทธเจ้า ด้วยการแผ่เมตตา ปลูกฝังไมตรีให้เป็นธรรมะประจำใจ เพราะคนมีเมตตาจิต คิดดีต่อผู้อื่นเสมอ จะเสมือนมีเครื่องคุ้มภัย คุ้มใจให้หายกลัวได้ ๒.แบบจิตวิทยา ด้วยการศึกษาให้รู้ความจริง ทำสิ่งที่ไม่รู้ให้รู้ชัดเจน เช่น เราไม่กล้านั่งเรือ กลัวตกน้ำ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น แต่ถ้าหัดว่ายน้ำได้แล้ว เราก็จะไม่กลัวอีกต่อไป
 
      -ขจัดความหวาดวิตก ซึ่งเป็นภัยร้ายที่ทำลายทั้งสุขภาพ และความคิด ดังนั้น เราจะต้องแก้โดยหัดมองโลกในแง่ดี คิดในทางบวก ต้องคิดเสมอว่า "เราทำได้” ไม่หวั่นเกรงปัญหา ไม่คิดสิ่งที่ทอนกำลังใจตนเอง หาอะไรทำอยู่เสมอเพื่อไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ เราก็จะลืมความวิตกไป
 
     -การเป็นตัวของตัวเอง คือ มีความคิดอ่านเป็นของตน ในทางที่มีเหตุมีผล มีความถูกต้องเหมาะสม พูดง่ายๆ ว่ามีหลักการของตนเอง ไม่ยอมให้ใครชักจูงให้ผันผวนไปจากแนวคิดของตน คนเหล่านี้คือ ผู้ที่มีกำลังใจแท้ คือ มีกำลังใจที่จะต่อสู้ และมีกำลังใจที่จะหักห้ามตนเอง ไม่ให้ทำผิดจากหลักการที่ตั้งไว้ ข้อสำคัญ ไม่ต้องนำตนไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น รู้จักชื่นชมตนเอง และให้รางวัลตัวเองในโอกาสดีๆบ้าง
 
     -การสร้างนิสัยสดชื่น คนที่มีนิสัยดังกล่าว จะมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ท่าทางเบิกบาน ทำให้ผู้อยู่ใกล้มีชีวิตชีวาและมีความสุขไปด้วย ตามหลักจิตวิทยาบอกไว้ว่า ความสดชื่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะมีชีวิตต่อไป ในขณะที่ความทรุดโทรม เศร้าหมองแสดงถึงความแตกดับอยู่เบื้องหน้า ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในความเป็นจริง เราอาจจะมีความทุกข์ แต่หากเราเอาแต่จ่มจ่อมอยู่กับความเศร้า นอกจากจะทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้คนก็จะพากันหนีห่าง ดังนั้น เราจึงควรสร้างนิสัยสดชื่นไว้อยู่เสมอด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี มองโลกในแง่ดี /ขบขัน หรือหมั่นสร้างบุญทำกุศล เป็นต้น
 
     นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว เรายังสามารถสร้างเสริมกำลังใจของเราให้มากขึ้นด้วยวิธีอื่นๆอีก เช่น ทำกิจกรรมจิตอาสา เข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ท่องเที่ยวเพื่อเปิดโลกทัศน์ อ่านชีวประวัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ใช้ข้อคิด คำคม คติคำสอนต่างๆมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ฯลฯ ซึ่งวิธีการต่างๆนี้เราสามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับจริตของเรา และเมื่อทำจนเคยชินเกิดเป็นนิสัยแล้ว ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนเข้มแข็งและมี "กำลังใจ”อันเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้ประสบความสำเร็จในทุกๆด้านต่อไป
 
....................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)