
ภาคใต้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู ดินแดนที่มีภูมิศาสตร์สำคัญจากการพบหลักฐานการค้าขายของมนุษย์ในยุคสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏศิลปวัฒนธรรมที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเอง ที่เรียกขานว่า "ศรีวิชัย” อันเป็นยุคสมัยหนึ่งในการจัดแบ่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทย ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับดินแดนข้างเคียงในเขตหมู่เกาะทะเลใต้อีกด้วย
เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว กลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรนี้ จะอาศัยอยู่บริเวณถ้ำของภูเขาหินปูนซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ในเขตจังหวัดชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น พบหลักฐาน ผู้คนในยุคนี้ใช้เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัด การทำภาชนะดินเผา และการทำผ้าจากเส้นใยของเปลือกไม้ ใช้เครื่องประดับที่ทำจากการขัดแต่งหินและเปลือกหอย
ทั้งยังพบร่องรอยชิ้นสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างมาก คือ ภาพเขียนสีในถ้ำต่างๆ เช่น ถ้าผีหัวโต อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ภาพที่เขาเขียน (เขาหินปูน อยู่ในอ่าวพังงา) อำเภอพังงา และที่เกาะทะลุ ตำบลตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นต้น กลุ่มชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังคงดำรงชีพแบบดั้งเดิมสืบเนื่องมาจนถึงเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว หรือ ๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล จึงเคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบและหมู่เกาะต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกของชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เกิดการพัฒนาไปเป็นสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์
พบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ กลองมโหระทึกสำริดและโบราณวัตถุในวัฒนธรรมดองซอน แสดงว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๕ มีการติดต่อกับชุมชนวัฒนธรรมโลหะกับดินแดนข้างเคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนสมัยนี้มีความสามารถในการเดินทางทางทะเลและรู้จักการใช้ประโยชน์จากลมมรสุม จนราวพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ ได้พบหลักฐานการติดต่อค้าขายอย่างกว้างขวางในคาบสมุทรภาคใต้ ดังโบราณวัตถุที่พบจากต่างชาติหลากหลายวัฒนธรรม เช่น กรีก โรมัน อาหรับ อินเดีย และจีน
จากการที่คาบสมุทรภาคใต้ของไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของเส้นทางการเดินเรือระหว่างจีนกับอินเดีย การติดต่อค้าขายทางเรือจึงจำเป็นต้องผ่านและแวะตามเมืองท่า และชุมชนต่างๆ เป็นระยะไปตามรายทาง ส่งผลให้ชุมชนคาบสมุทรภาคใต้มีการติดต่อและรับอารยธรรมจากชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญชายฝั่งทะเล และเมืองตอนในคาบสมุทรตามเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลายแห่ง มีเมืองท่าสำคัญทางชายฝั่งตะวันตก ได้แก่ เมืองตักโกลา
ในส่วนตะวันออกพบหลายเมือง เช่น ดันซุน ลังเจียซู พันพัน ฉีตู มลายู โหลิง ตันมาหลิง เป็นต้น เมืองเหล่านี้เจริญขึ้นจากการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลกับต่างชาติ พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างวัฒนธรรมทีเก่าแก่ที่สุด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑ – ๓ ได้แก่ ลูกปัดแก้วมีตาของโรมัน ที่แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และคันฉ่องสำริดจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น พบที่อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ผ้าไหม เครื่องถ้วยชาม และของป่าพื้นเมือง เช่น เครื่องเทศ เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวตะวันตก ส่วนสินค้าที่พ่อค้าชาวจีนต้องการส่วนใหญ่เป็นของมีค่า เช่น ไข่มุก นอแรด อัญมณี และเครื่องเทศต่าง ๆ
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒