กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ทำไม...ถึงเรียกว่า “โนราโกลน”

วันที่ 21 ก.ย. 2564
 
     โนราโกลนหรือโนราจำอวด เป็นการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ โนราโกลน ประกอบด้วยคำ ๒ คำคือ โนรา และ โกลน คำว่า "โนรา" หมายถึง โนราหรือมโนห์รา เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายเกือบทุกจังหวัดของภาคใต้ ส่วนคำว่า "โกลน" มีความหมายว่า "ไม่เสร็จ ไม่สมบูรณ์” ซึ่งบางแห่งเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนราดิบ" ซึ่งหมายถึงการแสดงโนราที่ไม่ได้ใช้นักแสดงที่ผ่านการฝึกฝนโนราหรือผ่านการครอบเทริดตามขนบธรรมเนียมของโนรา ไม่ว่าการประดิษฐ์ท่ารำ การร้อง การแต่งตัว จะเลียนแบบโนราจริงเกือบทุกอย่าง ในด้านเนื้อหาสาระการแสดงโนราโกลนส่วนมากจะนำเรื่องราวในวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันมาผูกเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ดูตลกขบขัน ท่ารำก็หยาบ ๆ เก้งก้าง พลิกแพลงให้พิสดารออกไปเพื่อสร้างความขบขัน ทั้งนี้ การแสดงโนราโกลนบางแห่งยังมีบทร้อง บทกาศถึงครู บทหน้าม่าน บทผันหน้า บทสีโต บทกำพรัด บทออกพรานด้วย ส่วนเครื่องดนตรีก็คล้าย ๆ แต่อาจไม่เยอะเท่าโนราจริง บางคณะอาจไม่มีเลยแต่ใช้ปากทำเสียงดนตรีก็สามารถแสดงได้ บางแห่งมักเรียกว่า โนราเล หรือโนราหอย โดยเรียกตามพื้นที่หรือวัสดุท้องถิ่นที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกาย
 
     การแสดงโนราโกลนในอดีต มักจะแสดงในงานแก้บน งานวัด งานฝังลูกนิมิตหรืองานอื่นๆ แล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่นิยมแสดงแก้บน โดยใช้ผู้ชายล้วนในการแสดงประมา ๓-๕ คน เริ่มด้วยหัวหน้าคณะทำพิธีเบิกโรงก่อนแสดง เพื่อขอเจ้าที่หรือขออนุญาตเจ้าที่ในการเบิกโรง โดยมีเครื่องไหว้ประกอบด้วย หมากพลู ๓ คำ เทียน ๑ เล่ม เงิน ๙ บาท พร้อมด้วยเครื่องแต่งกาย จากนั้นก็เป็นบทกาศครูและแสดงตามเนื้อเรื่องที่เตรียมไว้ สำหรับสถานที่ในการแสดงส่วนใหญ่ใช้ลานกว้าง ๆ ทำเวทียกพื้นสูง ประมาณ ๑ เมตรแสดงในที่โล่ง ซึ่งผู้ชมสามารถร่วมสนุกสนานได้เต็มที่ ส่วนฉากในการแสดง ใช้ฉากผ้าม่านการวาดอย่างสวยงาม มีการเขียนชื่อคณะไว้เพื่อประชาสัมพันธ์คณะฉากที่ใช้ไม่มีการเปลี่ยนใช้เหมือนกันทุกงานฉาก เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สำคัญของโนราโกลนที่จะบ่งบอกชื่อคณะและเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เวทีดูงามตาและเด่นขึ้น และมีเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะเหมือนกับการแสดงของโนราจริงทุกประการประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๖ ชิ้น ได้แก่ ๑. ทับหรือโทน เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในการให้จังหวะ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงจังหวะ ๒. กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสริมจังหวะและล้อเสียงทับ ๓. ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไฟเราะและสำคัญมากในการเสริมเสียงสะกดใจผู้ชม ๔. โหม่ง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการขับบท ๕. ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตีเสริมแต่งและเน้นจังหวะ และ ๖. แตระหรือแกระ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ
 
     สำหรับเครื่องแต่งกายมีการเลียนแบบโนราทุกอย่างแต่ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาดัดแปลงตกแต่งเสื้อผ้า เช่น เทริดทำด้วยจง (จงเป็นเครื่องมือที่ใส่กุ้งหรือปลาทำจากไม้ไผ่) หางหงส์ทำด้วยกาบตาล ลูกปัดทำจากเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ฝาน้ำอัดลม ฝาเบียร์ สร้อยคอทำจากเปลือกหอยโข่ง ปั้นเหน่ง ทับทรวงทำจากกระดองเต่า และนิยมแต่งหน้าให้ดูขำขัน ส่วนท่ารำและบทร้องนั้นโดยทั่วไปแล้วโนราโกลนไม่ได้มีการกำหนดท่ารำตายตัวแต่จะใช้ท่าทางและความถนัดของนักแสดงแต่ละคน ซึ่งนักแสดงต้องมีไหวพริบปฏิภาณ มีคารมคมคายในการแสดงสามารถเล่าเรื่องกี่ยวกับเหตุการณ์ในปัจจุบันหรือความวุ่นวายในสังคม เพื่อสร้างความสุข สนุกสนานแก่ผู้ชมได้ ต่อมานายชู พรหมมี หัวหน้าคณะโนราโกลนสามสลึงตำลึงทอง ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของจังหวัดตรัง ได้พลิกแพลงท่ารำของโนราให้พิสดารออกไป เพื่อให้ดูขบขัน โดยมีลักษณะเก้งก้าง ดูหยาบๆไม่ได้สวยงามเหมือนโนราทั่วไป ซึ่งมีท่ารำประกอบด้วย ท่าออกม่าน ผู้แสดงจะต้องนั่งชันเข่า ตั้งวงคล้ายโอบกอดของใหญ่ พร้อมลุกขึ้น แล้วเอามือทั้งสองมาประกบกัน ปลายนิ้วชี้ลงล่าง แล้วเริ่มก้าวย่างสามขุมเป็นวงกลมรอบเวที ท่ารำสอด การตั้งวงรำคล้ายมโนราห์จริง แต่จะเป็นการพลิกเอาฝ่ามือเข้าด้านใน สลับออกไปข้างนอก แล้วเอาหัวแม่มือ และข้อมือหลักลงล่าง ท่าเต้งตุ้ง เป็นการโค้งคำนับหนึ่งครั้งแล้วก็เอามือข้างหนึ่งไปข้างหลังอีกมือไว้ ข้างหน้าระดับเอว ก้มตัวเล็กน้อยพร้อมเดินวงตามจังหวะดนตรี บ้างก็เปลี่ยนมือทำท่ารำ สอดไปเรื่อย ๆ ท่านวยนาด ผู้แสดงจะเดินส่ายสะโพกเข้ากับจังหวะดนตรี โดยที่มือขวาแนบกับหน้าอก ส่วนมือซ้ายตวัดแกว่งไปมาอยู่บริเวณข้างลำตัว และท่าเขาควาย การล้อท่ารำโนราจริง แต่จะยกมือทั้งสองข้างเสมอไหล่ และพับศอกคล้าย ๆ กับเขาควาย แล้วงอเข่ารำวนไปมาโดยมีการสลับข้อมือไปมา
 
     ในอดีตการแสดงโนราโกลนมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ อาทิ จังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้เหลือเพียงไม่กี่คณะแล้ว เนื่องจากความนิยมดูโนราโกลนลดลงเพราะผู้คนในสังคมหันไปนิยมเสพสื่อบันเทิงซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแทน และโนราโกลนรุ่นเก่าก็ล้มหายตายจากไป คณะรุ่นใหม่ก็ไม่มีการสืบสานเพราะการแสดงโนราโกลนนั้นยาก เนื่องจากคนที่จะแสดงโนราโกลนได้จะต้องมีอารมณ์ขันโดยธรรมชาติและมีใจรักศิลปะการแสดงเท่านั้นจึงจะฝึกได้เรียกว่าต้องมีพรสวรรค์นั้นเอง
 
.............................................................
 
ขอบคุณที่มา: หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/2/cf061b4f, http://ich.culture.go.th/images/province/15_1_2.pdf
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)