
จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม นอกจากจะแสดงเรื่องราวพุทธประวัติและความเชื่อเรื่องไตรภูมิแล้ว ยังได้นำเสนอภาพจิตรกรรมสำคัญ "ทศชาติชาดก” แสดงอยู่ระหว่างผนังช่องหน้าต่างและช่องประตูภายในพระอุโบสถเขียนแบบเวียนขวา โดยเรื่อง "เตมิยชาดก” เขียนบริเวณผนังด้านหน้าและผนังด้านซ้ายพระประธานที่เชื่อมต่อกัน แล้วคั่นด้วยช่องหน้าต่าง จากนั้นระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องทศชาติชาดก เรียงตามลำดับกันไปจนไปสุดที่ "นารทชาดก” ในผนังซ้ายมือ และ "วิธุรชาดก” เขียนแสดงต่อบนผนังด้านหลังพระประธาน ส่วนเรื่องเวสสันดรชาดก เขียนต่อบริเวณผนังด้านหลังพระประธานและผนังด้านขวาของพระประธาน
เรื่องราวทศชาติชาดก มีการเรียงลำดับดังนี้
ผนังฝั่งซ้ายมือพระประธาน เริ่มด้วย เตมิยชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดกและนารทชาดก ปิดด้วยวิธุรชาดก
ผนังด้านหลังพระประธาน แสดงเรื่อง เวสสันดรชาดก เรียงตามลำดับคือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ และทานกัณฑ์
ผนังฝั่งขวามือพระประธาน แสดงเรื่องเวสสันดรชาดก เริ่มต่อจากผนังด้านหลังไปจนถึงผนังด้านหน้าพระประธาน ได้แก่ กัณฑ์วนประเวศน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพนและกันฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักบรรพ กัณฑ์มหาราช ยกขบวนไปรับพระเวสสันดร กัณฑ์ฉกษัตริย์ และปิดท้ายด้วยภาพยกขบวนกลับ
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์
(วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓