
ท่ารำและกระบวนท่ารำของโนรา เบื้องต้นครูผู้สั่งสอนจะถ่ายทอดหลักในการยืนนั่ง การทรงตัว กรีดมือ ขยับแขน จัดวง เหลี่ยมและสร้างพละกำลังให้กับขา ให้ความยืดหยุ่นและแข็งแรงพอที่จะเคลื่อนและสร้างความสมดุลไม่ว่าจะอยู่ในท่ารำเช่นไร โดยครูแต่ละสายตระกูลมีท่าหลักหรือท่าแม่ที่อยู่ในตำนานกำเนิดโนรา เรียกกันว่า ท่ารำ ๑๒ ท่า ที่แตกต่างกันไปบ้าง ท่ารำ ๑๒ ท่า ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมไว้จากคำชี้แจงของนายจงภักดี (ขาว) ศิลปินละครชาตรีที่เมืองตรังในบทพระราชนิพนธ์ตำนานละครอิเหนา ว่ามี ๑๒ ท่ารำนั้น จะเห็นว่ามีความแตกต่างจากโนราคล้าย พรหมเมศ และโนรามดลิ้น พร้อมกับชื่อเรียกท่ารำ อีกทั้งท่ารำก็มีลักษณะเฉพาะของครูโนราทั้งสอง ทำให้เห็นว่าในทางปฏิบัติสืบสานท่ารำที่เป็นท่าแม่เหล่านี้ ในขนบพื้นบ้านนั้นขึ้นอยู่กับครูในแต่ละบ้านแต่ละถิ่น เพราะครูโนราแต่ละสายอาจมีท่ารำพื้นฐานที่เป็นท่ารำที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะครูแต่ละบ้านแต่ละชุมชนมีวิธีคิดและสร้างท่าพื้นฐานในการถ่ายทอดของตนเอง ดังนั้นท่ารำพื้นฐานของโนราแต่ละสายล้วนมีความเฉพาะในสายครูของตน ในกาลต่อมาครูโนราผู้ถ่ายทอดสืบสานได้คิดท่ารำเพิ่มเติมและแตกต่างกันออกไป เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในกระบวนรำเบื้องต้น ซึ่งต่อมาเมื่อมีการสืบทอดในระบบการศึกษาจึงมีการรวบรวมและบันทึกเพื่อให้ศิลปินได้ฝึกฝน ประมาณ ๘๓ ท่า ตามบทเพลง บทครูผู้สอน บทสอนรำและบทประถม แล้วจึงฝึกการรำประสมท่าต่างๆให้เข้ากันอย่างกลมกลืนมีเอกภาพ ฝึกฝนการรำบทในทำนองเพลงกราว หรือเพลงโทน ที่เป็นการตีท่าประกอบการร้อง
สำหรับท่ารำพื้นฐาน ๑๒ ท่า โดย โนราคล้ายขี้หนอน หรือ หมื่นระบำบันเทิงชาตรี ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ โนราคล้ายขี้หนอนได้มีโอกาสรำโนราถวายต่อหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เนื่องในงานพระราชพิธี และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้บันทึกท่ารำและบทกลอน โนราบทหลายท่า เพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป ซึ่งท่ารำ ๑๒ ท่า ของโนราคล้าย พรหมเมศ (โนราคล้ายขี้หนอน) ที่ได้ถูกบันทึกภาพไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ประกอบด้วย
๑.ท่าขุนศรัทธา
๒.ท่าครู
๓.ท่าเขาควาย
๔.ท่าจีบหน้า
๕.ท่าย่างสามขุม
๖.ท่าขี้หนอน
๗.ท่าเหาะเหิน
๘.ท่าลงฉากน้อย
๙.ท่าจับระบำ
๑๐.ท่าพรหมสี่หน้า
๑๑.ท่าซัดหวางอก
๑๒.ท่าแมงมุมชักไย
หมื่นระบำบันเทิงชาตรี หรือ โนราคล้ายขี้หนอน เป็นโนราที่มีชื่อเสียงของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ท่านได้มีชีวิตอยู่ถึงสี่แผ่นดิน คือเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๗ สิริรวมอายุ ๘๐ ปี ท่านเป็นศิลปิโนราผู้อาวุโสของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโนราคนแรกที่ได้นำเอาศิลปะการร่ายรำแบบโนราไปเผยแพร่ในเมืองหลวงยุคนั้น และได้มีโอกาสรำถวายหน้าพระที่นั่งพรเจ้าแผ่นดินถึงสองพระองค์ จนทางการเห็นความสำคัญของโนราและได้บันทึกและถ่ายภาพไว้ศึกษาและรับไว้เป็นศิลปะการแสดงของชาติในเวลาต่อมา ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดท่ารำให้กับลูกศิษย์มากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ โนราเย็น แห่งอำเภอฉวาง โนราไข่ร็องแร็ง บ้านทุ่งโพธิ์ โนราคลัน บ้านตำปูน โนราคลี่ ชูศรี (พระครชั้นประทวน ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมภูผาหรือวัดดอนกลาง ตำบลร่องพิบูลย์ อำเภอร่องพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
..................................................
ขอบคุณที่มา :หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, shorturl.asia/PkiHM