
จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม เป็นจิตรกรรมสกุลช่างรัตนโกสินทร์ เขียนขึ้นในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ รัชสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยฝีมือจิตรกรเอก ได้แก่ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก กับหลวงเสนีบริรักษ์ (คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก เป็นต้น เรื่องราวของภาพที่เขียนคือ ทศชาติชาดก ซึ่งมีการจัดแผนผังรวมของภาพจิตรกรรมคล้ายคลึงกับจิตรกรรมแบบไทยประเพณีโดยทั่วไป จะมีส่วนที่แตกต่างกันบ้าง คือ ที่ผนังด้านหลังของพระประธาน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม จิตรกรได้บรรจงเขียนเต็มพื้นที่ผนังอาคาร ทั้ง ๔ ด้าน แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มภาพ ดังนี้
ภาพกลุ่ม ๑ เขียนแสดงบนผนังด้านหน้าพระประธาน หรือผนังด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ผนังอาคารส่วนล่างบริเวณพื้นที่ระหว่างประตู และผนังอาคารส่วนบนบริเวณเหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติ ภาพมารผจญ มีพญาวสวัตตีมารนำเหล่าพลมารเข้ารุมทำร้ายพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ โพธิบัลลังก์
ภาพกลุ่ม ๒ เขียนแสดงบนผนังด้านหลังพระประธาน หรือผนังด้านทิศใต้ ประกอบด้วย ๒ ส่วนเช่นเดียวกับผนังด้านหน้าพระประธาน บริเวณส่วนล่างระหว่างช่องประตูเขียนเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนด้านบนหรือกรอบช่องประตูเขียนแสดงภาพไตรภูมิ
ภาพกลุ่ม ๓ เขียนแสดงบนผนังด้านข้างพระประธานทั้ง ๒ ด้าน ส่วนล่างของผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องทศชาติชาดก เรื่องราวสิบพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนบริเวณผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุมเรียงซ้อนกัน ๓ ชั้น คั่นด้วยลายหน้ากระดานประจำยามก้ามปู และชั้นบนสุดคั่นด้วยเส้นสินเทาเป็นภาพฤษี นักสิทธิ์ และวิทยาธรล่องลอยอยู่ในห้องฟ้านำดอกไม้มาบูชาพระพุทธองค์หลังจากทรงชนะมาร และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งหันหน้าเข้าหาพระประธาน
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓