กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “สังคหวัตถุ ๔ ธรรมแห่งการเกื้อกูลกันและกัน”

วันที่ 6 ก.ย. 2564
 

      แม้สังคมทุกวันนี้ จะดูเหมือนว่าเราต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เรามีเครื่องอำนวยความสะดวก มีเครื่องมือสื่อสาร มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นดังเช่นแต่ก่อน แต่แท้จริงแล้ว มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ตามลำพังได้ ยังต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ยังต้องการความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเพราะแต่ละคนยังต่างจิตต่างใจ ต่างความคิด จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงอยากเสนอหลักธรรมหนึ่งที่เรียกว่า "สังคหวัตถุ ๔” ซึ่งเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดการเกื้อกูลต่อกัน ทำให้คนหันหน้าเข้ากัน อันน่าจะช่วยลดปัญหาสังคมได้ในระดับหนึ่ง
 
     "สังคหวัตถุ ๔” แปลว่า ธรรมอันที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน หมายถึง การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อที่ ทำให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ และมีผลให้เกิดความรัก ความปรารถดีต่อกัน ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา โดยแต่ละประการ มีความหมายดังนี้
 
     -ทาน หมายถึง การให้ การแบ่งปัน หรือการเสียสละ เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน โดยหมายให้ผู้รับได้พ้นทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่ ๑.อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินทอง ๒.ธรรมทาน คือ การให้ความรู้เป็นวิทยาทานหรือสอนธรรมะ และ ๓.อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีต่อเรา ไม่ถือโทษโกรธเคือง และไม่จองเวร พยาบาทต่อกัน
 
     -ปิยวาจา หมายถึง การพูดจาด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ไพเราะ สุภาพ จริงใจ และพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะกับกาลเทศะ การพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นดาบสองคม ที่ก่อให้เกิดมิตรหรือศัตรูก็ได้ ทำให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ หรือบั่นทอนจิตใจก็ได้ ซึ่งวิธีการพูดที่เป็นปิยวาจา หรือ คำพูดอันเป็นที่รักนั้น เขาบอกว่าจะต้อง ละเว้นการพูดต่อไปนี้ คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย และพูดเพ้อเจ้อ
 
     ในปัจจุบันที่เราติดต่อกันทางสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ คำว่า ปิยวาจา นอกจากจะหมายถึง การพูดแล้ว อาจรวมไปถึงการเขียนหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งก็ควรจะใช้หลักเดียวกัน เพราะคงไม่มีใครชอบฟัง หรืออ่านถ้อยคำที่กระด้าง รุนแรง ก้าวร้าวหยาบคาย หรือเป็นเท็จ ซึ่งบางครั้งอาจจะสะใจ แต่หลายครั้งก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาอันใดได้
 
     -อัตถจริยา หมายถึง ประพฤติตนให้ประโยชน์ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นตามกำลังความสามารถที่ตนมีอยู่ อาจจะด้วยกำลังกาย กำลังความคิด หรือกำลังทรัพย์ โดยทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ว่าจะเพื่อสถานที่ องค์กร หรือหมู่คณะ
 
     -สมานัตตตา หมายถึง เป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือวางตัวดีเสมอต้นเสมอปลายกับทุกคน เป็นการทำตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมี ๒ ประการคือ ๑.วางตนได้เหมาะสมกับฐานะที่มีอยู่ในสังคม เช่น เป็นพ่อแม่ เป็นครูอาจารย์ เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นต้น อยู่ในฐานะไหน ก็วางตัวได้สมกับฐานะนั้นโดยทำได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และ ๒.ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อคนทั้งหลาย ให้ความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมรับรู้ และร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
 
     จะเห็นได้ว่า แต่ละข้อของ "สังคหวัตถุ ๔” ล้วนเป็นหลักธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการผูกมิตร สร้างไมตรีกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ การพูดจาดี การทำตนให้เป็นประโยชน์ และการเป็นผู้เสมอต้นเสมอปลาย สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว ยังทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นที่ชื่นชอบ และยังนำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคมทุกระดับ เป็นสิ่งที่ยังจรรโลงโลกให้น่าอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นก็ตาม
 
.................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)