
วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เลขที่ ๓๓ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์นิกาย
"วัดสุวรรณาราม” เดิมชื่อ "วัดทอง” สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม” นอกจากนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยังทรงมีพระราชศรัทธาโปรดให้สร้างเมรุหลวงสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งตามประเพณีต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก เมรุหลวงแห่งนี้ใช้สืบมาในสมัยรัชกาลที่ ๕
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งโปรดให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถอีกด้วย
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๒ กรมศิลปากร ได้ดำเนินการซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และกรุกระจกทุกห้องตรงผนังระหว่างหน้าต่าง เพื่อป้องกันความเสียหายจากการขูดขีดบนภาพจิตรกรรมของคนที่มาชม แต่กลับส่งผลให้เกิดความชื้นทำความเสียหายแก่ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๒๒ กรมศิลปากร จึงได้นำกระจกออก พร้อมทั้งซ่อมแซมภาพที่ชำรุดให้มีลักษณะคงเดิมมากที่สุด
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานที่สำคัญนาม "พระศาสดา” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูงถึงพระรัศมี ๘ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๑ คืบ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญว่า "...พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปเห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี(วัดสุทัศน์) จึงสันนิษฐานว่าจะเชิญมาแต่กรุงสุโขทัย ในสมัยรัชกาลที่ ๑...”
นอกจากนี้ ภายในวัดสุวรรณาราม ยังมีสิ่งสำคัญ ได้แก่ พระวิหาร ตั้งอยู่ติดกับพระอุโบสถไปทางทางทิศตะวันตก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีมุขขวางสองข้าง ติดช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักเป็นลายเทพนมอย่างงดงาม
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓