
โนรา คือ มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลังและมีชีวิตชีวา เป็นนาฏยลักษณ์ของคนภาคใต้ ซึ่งการแสดงประกอบไปด้วยการร่ายร่ำที่แข็งแรง กระฉับกระเฉงแต่มีอ่อนช้อยงดงาม การขับกลอนด้วยท่วงทำนองอันไพเราะ ผู้แสดงโนราต้องใช้ปฏิภาณในการด้นกลอนสดและเจรจาด้วยสำเนียงใต้ มีลูกคู่และดนตรีร้องรับด้วยจังหวะที่คึกคักฉับไว ซึ่งเครื่องดนตรีประกอบจังหวะและสร้างท่วงทำเนาะอันไพเราะนั้นประกอบด้วย
๑.ทับ (โทน) มี ๒ ใบ ใช้คนตีเพียงคนเดียว เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นตัวควบคุมจังหวะ กำกับบทบาทลีลา ทำนองการรำและการขับร้องกลอน การเปลี่ยนกระบวนรำและการร้องกลอนทุกครั้งทับต้องเปลี่ยนตามทันท่วงทันทีและกลมกลืน โดยเฉพาะการรำที่เรียกว่า "ทำบทเพลงทับ” หรือ รำเพลงทับ
๒.กลอง เป็นเครื่องกำกับจังหวะที่คอยรับและขัดจังหวะทับ ที่เรียกว่า ขัดลูกกลอง โนราคณะหนึ่งมีกลอง ๑ ลูก บทบาทของกลองจะใช้บรรเลงประกอบการแสดง ในอดีตใช้ตีเพื่อบอกว่าโนรามาแล้ว
๓. โหม่ง เป็นฆ้องคู่เป็นเครื่องกำกับจังหวะ ๒ ลูก เสียงแหลมเรียกว่าหน่วยจี้ เสียงทุ่มเรียกหน่วยทุ้ม ปัจจุบันเรียกโหม่งหล่อ โหม่งมีส่วนสำคัญในการขับร้องเพลงให้ไพเราะ เสียงหวานกังวานอันเกิดจากความกลมกลืนระหว่างเสียงโนรากับโหม่งเรียกว่าเสียงเข้าโหม่ง
๔.ฉิ่ง มี ๑ คู่ เป็นเครื่องกำกับจังหวะ ใช้คู่กับโหม่ง โดยมุมหนึ่งของรางโหม่งจะผูกฉิ่งไว้ เวลาลูกคู่ตีโหม่งจะใช้มือข้างหนึ่งตีฉิ่งไปด้วย
๕.ปี่ เป็นเครื่องเป่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ให้ทำนองชนิดเดียวในการแสดงโนรา ทำให้การบรรเลงดนตรีมีความไพเราะ ใช้บรรเลงเป็นหลักในการรำโนรา เรียกว่า รำเพลงปี่ รำยั่วปี
๖.แตระพวง หรือกรับพวง เป็นเครื่องประกอบจังหวะที่ทำจากไม้เนื้อแข็งนำมาเจาะรูหัวท้ายซ้อนกันประมาณ ๑๐ อัน ใช้เรียวไม้หรือลวดเหล็กมัดเข้าด้วยกัน ตีให้ปลายกระทบกัน แตระมีความสำคัญ ๒ ประการ คือ เป็นครูของดนตรีโนราเวลาทำพิธีสอดเครื่อง ครูจะใช้กำไลสวมผ่านแตระให้ไหลไปสวมมือโนราที่เข้าพิธีและเป็นดนตรีหลักในการขับร้องและรับบทกลอนเพลงที่เรียกว่า เพลงร่ายแตระและเพลงหน้าแตระ
นอกจากเครื่องดนตรีตามแบบแผนเหล่านี้แล้ว ปัจจุบันยังพบเครื่องดนตรีอื่นๆ ในการแสดงโนราโรงครู ได้แก่ ซออู้ หรือ เครื่องดนตรีแบบสากลที่เป็นเครื่องไฟฟ้า เช่น กีตาร์ กลองชุด คีย์บอร์ด เป็นต้น
.......................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม