กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “นาค-พญานาค”

วันที่ 30 ส.ค. 2564
 

     ตามคติของหลายศาสนาเชื่อว่า "นาค” คือ งูใหญ่ที่มีหงอน อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล และสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ นาคผู้เป็นใหญ่หรือเป็นหัวหน้าจะถูกเรียกว่า "พญานาค” หรือ "นาคราช” นาคเพศหญิงจะเรียกกันว่า "นาคี” ส่วนคำว่า "นาคา” ตามพจนานุกรมฯจะหมายถึง งู หรือ ชื่อชนเผ่าหนึ่งในอินเดียและพม่า
 
     แม้จะไม่มีใครกล้ายืนยันอย่างชัดเจนได้ว่า "นาค” มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่เรื่องราวของนาคก็ปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก บางแห่งถือว่า นาคเป็นสัตว์ในนิยายปรัมปรา บางแห่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ บางแห่งถือเป็นเทพเจ้า แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เรื่องของ "นาค” หรือ "พญานาค” มักจะมีความลึกลับ ความศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องของอิทธิปาฏิหารย์มาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
 
     สำหรับตำนานพญานาคนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย แต่กล่าวกันว่าน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ที่มี ภูมิประเทศเป็นป่าเขาจึงมีงูชุกชุม และด้วยเหตุที่งูหลายชนิดเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรง ซึ่งสมัยก่อนคงไม่มียารักษาหรือหาได้ยาก คนจึงทั้งเกรงกลัวและถือว่ามีอำนาจมากกว่า ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองูเป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวต่อมาก็ได้แพร่หลายไปยังที่อื่นๆและต่างๆกันออกไป ในมหากาพย์มหาภารตะถือว่าพญานาคเป็นศัตรูกับพญาครุฑ (แม้จะมีพระมหาฤษีกัศยปเป็นบิดาเดียวกันก็ตาม แต่แม่ของครุฑคือ นางวินตามีเรื่องวิวาทบาดหมางกับนางกัทรุแม่ของนาค จึงไม่ลงรอยกัน) ส่วนในตำนานนาคสร้างเมืองเขมร ซึ่งเป็นนิทานปรัมปราของเขมรก็ได้กล่าวถึงพระทอง โอรสกษัตริย์เมืองหนึ่ง ได้คิดขบถจึงถูกเนรเทศออกจากเมือง ต่อมาได้พบรักกับนางนาคและแต่งงานกัน พญานาคผู้บิดานางนาค จึงได้มาช่วยสร้างบ้านเมืองให้อยู่ โดยให้ชื่อว่า กัมพูชา พร้อมช่วยปกป้องคุ้มครองเมืองให้เกิดความมั่งคั่งมั่นคง ทางด้านตำนานพุทธประวัติก็มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับพญานาคไว้หลายตอน เช่น กล่าวถึงพญามุจลินทร์ที่ได้ขนดตัวเป็นฐาน และแผ่พังพานเพื่อบังลมฝนให้พระพุทธเจ้าเมื่อคราวพระองค์ตรัสรู้ และทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นจิก (และเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก) ส่วนตำนานบั้งไฟพญานาค ก็มีที่มาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจำพรรษาอยู่นาน ๓ เดือน พญานาคในลำน้ำโขงก็ได้ออกมาแสดงความยินดี โดยมนุษย์มองเห็นเป็นดวงไฟที่ผุดขึ้นกลางแม่น้ำโขง ซึ่งจะเห็นได้ชัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษานั่นเอง
 
     ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อแม้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค แต่โดยทั่วไป ตัวจะมีลักษณะเป็นงูใหญ่ มีหงอนสีทอง มีตาสีแดง มีเกล็ดเหมือนปลาซึ่งจะมีหลายสีตามแต่ตระกูลหรือบารมีของนาคนั้นๆ ที่สำคัญคือ ถ้าเป็นนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ถ้าตระกูลสูงขึ้นไปก็จะมีตั้งแต่สามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียร และเก้าเศียร เป็นต้น โดยนาคจะแบ่งได้ ๔ ตระกูลใหญ่ ดังนี้ ๑.ตระกูลวิรูปักษ์ เป็นนาคผิวกายสีทอง ๒.ตระกูลเอราปักถะ เป็นนาคผิวกายสีเขียว ๓.ตระกูลฉัพยาปุตตะ เป็นนาคผิวกายสีรุ้ง ๔.ตระกูลกัณหาโคตรมะ เป็นนาคผิวกายสีดำ
 
     นอกเหนือจากสี่ตระกูลดังกล่าวแล้ว ในคัมภีร์พุทธศาสนายังได้แบ่งนาคละเอียดออกไปอีกถึง ๑,๐๒๔ ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่คือ งูต่างๆ อาทิ งูเห่า งูจงองอาง งูเหลือม และงูอื่นๆ ต่างถือเป็นลูกหลานของพญานาคทั้งสิ้นนอกจากนี้ ยังมีการจัดพญานาคที่มีพิษรุนแรงมากอีก ๔ ประเภท ได้แก่
 
     ๑.กฏฐมุข เป็นพญานาคที่มีพิษทำให้ธาตุดินในร่างกายกำเริบ ใครถูกกัด ผู้นั้นจะมีร่างกายแข็งไปทั้งตัว อาการไหลเวียนของเลือดจะหยุดชะงัก ข้อต่อข้อพับทั้งหลายจะพับงอไม่ได้ จะเจ็บปวดมาก
 
     ๒.ปูติมุข เป็นพญานาคที่มีพิษทำให้ธาตุน้ำในร่างกายกำเริบ รอยแผลที่ถูกกัดจะเกิดอาการบวมพอง และเน่าเปื่อย มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมาจากบาดแผล
 
     ๓.อัคคิมุข เป็นพญานาคที่มีพิษทำให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบ จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน รอยแผลจะคล้ายถูกไฟไหม้แล้วลามไปทั่ว
 
     ๔.สัตถมุข เป็นพญานาคที่มีพิษทำให้ธาตุลมในร่างกายกำเริบ จะเกิดอาการปั่นป่วนภายใน ทั่วร่างจะฉีกขาดคล้ายถูกอาวุธฟาด บาดแผลจะเหมือนถูกฟ้าผ่า
 
     การเกิดของพญานาค จะเกิดได้ ๔ แบบ ได้แก่ แบบโอปปาติกะ คือ เกิดแล้วโตทันที แบบสังเสทชะ คือ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักหมม แบบชลาพุชะ คือ เกิดจากครรภ์ และแบบอัณฑชะ คือ เกิดจากไข่ สำหรับนาคชั้นสูงจะเกิดแบบโอปปาติกะ เป็นชนชั้นปกครอง ที่อยู่ของนาคจะมีตั้งแต่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงต่างๆ และในอากาศไปจนถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกนาคจะอยู่ใต้การปกครองของท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในจตุโลกบาลทั้งสี่ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านตะวันตก
 
     แม้นว่าพญานาคจะมีคุณสมบัติพิเศษสามารถเนรมิตกายเป็นอะไรก็ได้ แต่หากอยู่ใน ๕ สภาวะต่อไปนี้ จะกลับกลายเป็นร่างเดิมเท่านั้น คือ ในขณะปฏิสนธิ(เกิด) ขณะลอกคราบ ขณะเสพสังวาสระหว่างนาคด้วยกัน ขณะหลับโดยปราศจากสติ และเมื่อตาย อย่างไรก็ดี นาคสามารถผสมพันธุ์กับสัตว์อื่นได้ เช่น แปลงกายเป็นมนุษย์และสมสู่กับมนุษย์ เมื่อตั้งท้องแล้วส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นไข่
 
     ในบ้านเรา "นาค” จะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยจะเห็นได้จากวัฒนธรรมประเพณี และงานศิลปกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น "บันไดนาค” ที่เห็นกันจนคุ้นตาตามทางขึ้นวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงพญานาคว่ามักเข้ามาฟังธรรมของพระพุทธองค์อยู่เสมอ ดังนั้น พญานาคจึงเป็นตัวแทนของผู้ใฝ่รู้ ผู้พร้อมจะขจัดความเป็นอวิชชา การสร้างบันไดนาคให้เดินขึ้นไปจึงเสมือนท่านเป็นผู้นำเราไปสู่ความพร้อมที่จะเข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอน
 
     ส่วน "การบวชนาค” นั้น เล่ากันว่าสมัยพุทธกาล มีนาคแปลงกายไปบวช ครั้นหลับร่างจึงกลับสู่ร่างเดิมทำให้พระทั้งหลายตกใจกลัว พระพุทธองค์จึงให้ลาสิกขา เพราะนาคเป็นเดรัจฉาน (สัตว์ที่อยู่ ๑ ในอบายภูมิ ๔) ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ นาคได้ยินดังนั้นก็เสียใจ จึงร้องขอต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ แต่ขอให้ผู้ที่เตรียมตัวจะบวช มีชื่อเรียกว่า "นาค” ด้วยเหตุนี้จึงมีพิธี ทำขวัญนาค แห่นาค และบวชนาค ต่อมาภายหลัง และทำให้ต้องมีการ "ขานนาค” ที่พระคู่สวด ต้องถามบุคคลที่จะขอบวชพระเป็นภาษาบาลีว่า "มนุสฺโสสิ” ที่แปลว่า เป็นคนหรือเปล่า อันเป็นส่วนหนึ่งของการบวชพระในสังคมไทยปัจจุบัน
 
     นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า "นาค” เป็น เทวดาแห่งน้ำ มีฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ สามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ เราจึงมีคำทำนายเรื่องนาคให้น้ำในแต่ละปี และคนโบราณยังเชื่ออีกว่า นาค กับสายรุ้ง เป็นอันเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดข้างต้นคือส่วนหนึ่งของเรื่อง "นาค-พญานาค” ที่นำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
 
..........................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : อดุล ตัณฑโกศัย, www.flickr.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)