
เครื่องแต่งกายโนราเป็นงานศิลปะที่สืบสานมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ที่มีความประณีต วิจิตรในแบบเครื่องทรงที่ประดับเรือนร่างผู้แสดงโนรา ซึ่งปัจจุบันเครื่องแต่งกายชุดโนราส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีความแตกต่างไปจากอดีต เพราะเริ่มหาความประณีตอันวิจิตรในแบบเครื่องทรงที่ครูโนรารุ่นบรรพบุรุษสืบทอดไว้ได้น้อยลงทุกวัน แต่โชคดียังมีคนรุ่นใหม่และคณะโนราต่างๆ ในท้องถิ่น ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะการร้อยลูกปัดชุดโนราในท้องถิ่นภาคใต้แขนงนี้ไว้ จนสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น ควบคู่กับการสืบสานศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน เราต้องยอมรับว่าเสน่ห์ของการแสดงโนราที่ขาดไม่ได้คือ เครื่องแต่งกายที่มีสีสันและทักษะของศิลปินที่แสดงและร้องรำอย่างมีไหวพริบปฏิภาณ การร่ายรำด้วยท่วงท่าที่งดงาม อ่อนช้อย แต่ทว่าสง่างาม มั่นคงแข็งแรง ฉับไว และมีพลังอย่างน่าเกรงขาม ผู้แสดงต้องเคลื่อนไหวเร้าใจสนุกสนาน รำประกอบจังหวะดนตรี หรือรำประกอบบทร้อง ภายใต้เครื่องแต่งกายที่มีน้ำหนักมากกว่า ๑๕ กิโลกรัม ซึ่งเครื่องแต่งกายของโนราอันงดงามประกอบด้วย
๑.เทริด เป็นเครื่องสวมใส่บนศีรษะของนายโรง หรือตัวยืนเครื่อง มีลักษณะคล้ายมงกุฏ ปลายมียอดเรียว ตกแต่งด้วยดอกเทริด ที่มีลักษณะคล้ายกลีบดอกบัวล็กๆโดยรอบมีกรอบหน้าและหูเทริด ถ้าเป็นเทริดที่เข้าพิธีแล้วจะมีด้ายมงคลตกแต่งประดับไว้
๒.เครื่องประดับสำหรับตัวนายโรง หรือ เครื่องต้นในตำนานโนรา มี ๙ ชิ้น ทำด้วยเงินหรือโลหะ ได้แก่ ทับทรวง หรือ ตาบ เป็นเครื่องประดับอก ๑ ชิ้น ปีกนกแอ่น ๒ ชิ้น ที่ปลายสายพาดหรือเส้นสังวาลด้านซ้ายและขวา ประจำยาม ๑ ชิ้น ติดไว้ด้านหลังสำหรับบังคับสายสังวาลให้ไขว้กันไว้สวยงาม ปั้นเหน่ง ๑ ชิ้น ประดับไว้ที่เอว "ไหมร” หรือกำไลต้นแขน ๒ ชิ้น กำไลปลายแขน ๒ ชิ้น
๓.เครื่องลูกปัด เป็นชุดเครื่องแต่งกายโนราทำจากลูกปัดหลากสี เป็นงานฝีมือที่ออกแบบลวดลายสีสันให้งดงาม มีทั้งที่เป็นแบบแผนดั้งเดิมและที่ออกแบบขึ้นใหม่ สีสันสวยงามตามรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ เครื่องลูกปัดมีหลายชิ้นประกอบกัน เพื่อใช้คลุมตกแต่งร่างกายส่วนบนของนักแสดงโนรา เครื่องลูกปัดเชื่อมเครื่องประดับไว้ที่เป็นโลหะด้วยกันอย่างงดงาม เครื่องลูกปัดทำด้วยมือ และยังประกอบด้วยเครื่องตกแต่งที่มีลักษณะเฉพาะช่วงบนของโนราได้แก่ ใช้สวมทับบ่าซ้ายและบ่าขวา สายคอ คือ สร้อยลูกปัดร้อยเป็นแถบสำหรับทับทรวง สายพาดซ้ายขวา หรือสังวาล มีสองเส้นไขว้กันสำหรับห้อยปีกนกแอ่นด้านซ้ายและขวา มีประจำยามติดไว้ช่วงหลังเพื่อบังคับสายพาดใหไขว้กันได้อย่างสวยงาม พานโครง ใช้พันรอบอก ใช้ทั้งผู้หญิงและผู้ใช้ ปิ้งคอ คือ แผงลูกปัดสามเหลี่ยม ๒ ชิ้น สำหรับสวมที่คอ ด้านหลังและหลัง ปิ้งโพก เป็นแผงลูกปัดสี่เหลี่ยมคางหมู สำหรับคาดทับผ้านุ่งเพื่อให้เรียบร้อยสวยงาม
นอกจากนี้ยังมี หน้าเพลา เป็นกางเกงทรงกระบอกสำหรับใส่ตัวใน นิยมปักปลายขาสวมแล้วนุ่งผ้าทับ ผ้านุ่ง เป็นผ้าลายดอกหรือผ้าสีพื้นก็ได้ใช้นุ่งทับหน้าเพลา นุ่งและรัดรูป รั้งสูง หน้าผ้า ลักษณะเดียวกับชายไหว ทำด้วยผ้าสามแถบ ผ้าห้อย เป็นผ้าโปร่งสีสันสดใส ห้อยไว้ซ้ายและขวาอยู่หน้าผ้า ปีก หรือที่เราเรียกว่า หาง หรือหางหงส์ เดิมทำด้วยเขาควายปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโลหะ เป็นรูปคล้ายปีนกคู่ ประกอบเป็นปลายปีกเชิดงอนขึ้นและผูกรวมกันไว้เป็นพู่ทำด้วยด้ายสี หางหงส์ทำให้โนราเชื่อมโยงกับการเป็นตัวละคร กินรี ในนิทานชาดกเรื่องพระสุธน-มโนราห์ เล็บ เครื่องสวมนิ้ว ทำด้วยทองเหลืองหรือเงิน ปลายร้อยด้วยหวายที่มีลูกปัดเล็กๆประดับ นิยมสวมดังยมสวมมือละ ๔ นิ้ว การสวมเล็บทำให้ท่ารำที่ใช้มือและนิ้ว เช่น การจีบ การกรีดนิ้ว หรือการซัดท่า เปลี่ยนตำแหน่งมือขณะร่ายรำอย่างรวดเร็ว มีความโดดเด่นงดงาม สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ชมและกำไลโนรา ซึ่งทำด้วยทองเหลืองเป็นรูปวงแหวนใช้สวข้อมือ ข้อเท้าข้างละ ๕-๑๐ วง เมื่อเวลาปรับเปลี่ยนท่าจะเกิดทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ
...............................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม