search
ข่าวสาร
>>
ข่าวประชาสัมพันธ์
อาลัยศิลปินแห่งชาติ พ่อครูบุญศรี รัตนัง
วันที่ 20 ส.ค. 2564
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ถึงแก่กรรม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๑.๔๕ น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เลขที่ ๑๑๐ ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ สิริรวมอายุ ๖๘ ปี และกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ วัดหนองเต่าคำ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการสวดพระอภิธรรมศพและการขอพระราชทานเพลิง ทางทายาทอยู่ระหว่างประชุมหารือผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากช่วงนี้สถานการณ์โควิดยังคงมีการแพร่ระบาดหนักอยู่นั้นเอง
อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่ง
ชาติ
สำหรับประวัติและผลงาน นายบุญศรี รัตนัง เกิดเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๖ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยมีนิสัยรักการดนตรีมาตั้งแต่เล็ก ได้ฝึก การเล่นดนตรีพื้นเมืองประเภทซึง-สะล้อ ขลุ่ย เป่าปี่จุม และการขับซอกับครูดนตรีล้านนาที่มีมีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายท่าน จนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ
นายบุญศรี รัตนัง พ.ศ. ๒๕๑๓ เริ่มรับจ้างเป่าปี่ในงานซอ เล่นตลกประจำคณะละครซอลูกเอื้องเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำงานทั่วไปประจำวงดนตรี คณะอำนวยโชว์ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๙ ตั้งวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ชื่อ วงลูกทุ่ง ลานทอง ต่อมาเข้าสู่วงการซอโดยได้รับการสนับสนุนจากนายประสิทธิ์ ศรีสมเพชร และเริ่มฝึกแต่งเพลงใส่ทำนองเพลงแนวพื้นบ้านภาคเหนือ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เริ่มร้องเพลงลูกทุ่งคำเมืองชุด "ลุงอดผ่อบ่ได้" และ "บ่าวเคิ้น" เป็นนักร้องประจำอยู่วงดนตรีคณะศรีสมเพชรวงใหญ่ ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เริ่มต้นสร้างแนวเพลงนี้ขึ้น ทำผลงานซอออกมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน มีผลงานเพลงที่แต่งขึ้นมาทั้งหมด ประมาณ ๕๐๐ กว่าเพลง มีผลงานอัลบั้มซอพื้นบ้านมาแล้วกว่า ๓๐ ชุด ผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น เมาตึงวัน สามตอง เบื่อผัวสามตอง หนุ่มรถอีแต๋นครวญ คุณนายป่ามป้าม เฒ่าจอมโวซอลูกทุ่งเบิกฟ้า ผัวเปรต ซอสามจังหวะ เงินบาทลอยตัว อเมซิ่งไทยแลนด์ ขี้เมาอ้อนเมีย แหล่หอยไห้ เป็นต้น มีบทเพลงซอพื้นบ้านที่ประพันธ์บทขึ้นมาใหม่ สะท้อนปัญหาสังคม เยียวยาสุขภาพจิต ส่งเสริมความเข้าใจทางการเมือง ความรู้ในทางพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และสร้างความบันเทิงให้กับประชาชน ผลงานซอบางเรื่องที่มีการนำมาบันทึกเสียงใหม่ และจัดทำในรูปแบบของซอเพื่อการศึกษา มีการจัดทำเป็น วีซีดี ซอคาราโอเกะ เพื่อการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกในล้านนา ในจำนวนนี้ เพลงแห่ครัวตาน จากอัลบั้มกลองยาวสามช่า ได้รับรางวัล ศิลปินเพลงยอดเยี่ยมพื้นบ้านภาคเหนือ รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ ๑ จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย เคยเข้าแข่งขันการประกวดวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ ในนามวง "ลูกทุ่งลานทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ที่รายการลูกทุ่งลานนา สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๘ ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗
ความสามารถนอกจากการขับซอ การประพันธ์บทซอพื้นเมือง เพลงลูกทุ่งคำเมือง ยังเป็น ผู้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีพื้นเมือง พัฒนาให้มีศักยภาพในการบรรเลงร่วมกับวงดนตรีสากล สร้างแบบเรียนแบบฝึกดนตรีพื้นเมืองเพื่อการศึกษามากมาย รวบรวมโน้ตเพลงพื้นบ้าน ตำราเป่าขลุ่ยล้านนา และปัจจุบันยังเป็นวิทยากรบรรยายความรู้ทางดนตรีพื้นเมืองสู่สังคมตลอดเวลาทั้งในพื้นที่สถานศึกษาและพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังก่อตั้งศูนย์สืบสานรอยล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาจากทุนส่วนตัว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน เปิดสอนความรู้วัฒนธรรมล้านนาแก่ผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผลิตลูกศิษย์ที่สืบสานมรดกความรู้วัฒนธรรมล้านนานับหลายร้อยคน โดยศูนย์สืบสานรอยล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น รัตนังเสียงซึงสตูดิโอ ตั้งอยู่ เลขที่ ๘๓ บ้านหนองเต่าคำ หมู่ที่ ๒ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ ๕๐๒๑๐ โทรศัพท์ ๐๘ ๙๙๙๘ ๑๘๙๘ E-mail: tayumanee@hotmail.com นายบุญศรี รัตนัง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) พุทธศักราช ๒๕๖๐
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์
|
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
|
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์
|
การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)