กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
แทงเข้พิธีกรรมสำคัญเอกลักษณ์ของโนราโรงครู

วันที่ 17 ส.ค. 2564
 
 
     ศิลปะการแสดงโนราเป็นการแสดงท้องถิ่นที่เก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ นอกจากจะแสดงเพื่อความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่สำคัญเรียกว่า "โนราโรงครู”หรือ"โนราลงครู”อีกด้วย พิธีกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนราอันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู ซึ่งการเซ่นไหว้ครูหมอโนราจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ๖ (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน) และเดือน ๑๑ (ปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน) ตามปฏิทินจันทรคติ นอกจากนี้อาจมีการประกอบพิธีโนราโรงครูขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดสัญญากัน เช่น ๗ ปีต่อ ๑ ครั้งหรือ ๑๒ ปี ต่อ ๑ ครั้ง โดยมีพิธีกรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ในพิธีโนราโรงครูคือ รำคล้องหงส์และแทงเข้ โดยที่มาของการรำคล้องหงส์และแทงเข้ มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพระยาสายฟ้าฟาดได้ทอดพระเนตรการแสดงโนราของเทพสิงหลซึ่งเป็นบุตรของนางนวลทองสำลีผู้เป็นพระธิดาที่พระองค์เคยโปรดปราน แต่ได้ทำผิดกฎมณเทียรบาลจึงทรงเนรเทศออกไปจากวัง เมื่อหลายปีก่อนนั้น พระองค์ทรงสังเกตว่าเด็กคนนี้หน้าตาละม้ายคล้ายกับนางนวลทองสำลีพระธิดา จึงรับสั่งให้นำเด็กที่รำโนรานั้นมาไต่สวนว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงได้ความจริงว่าเด็กคนนี้เป็นพระโอรสของนางนวลทองสำลี เมื่อทราบความจริงพระยาสายฟ้าฟาดจึงรับสั่งให้นำพระโอรสกลับคืนสู่พระราชวัง จากนั้นพระยาสายฟ้าฟาด มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปรับตัวนางนวลทองสำลีคืนสู่พระราชวัง ทว่านางนวลทองสำลีก็ไม่ยอมคืนสู่วัง พระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งอำมาตย์ไปเป็นครั้งที่สอง แต่นางนวลทองสำลีก็ไม่ยอมคืนสู่วัง เหล่าอำมาตย์จึงจำเป็นต้องจับนางมัดมาอันเป็นที่มาของโนราคล้องหงส์และแทงเข้ ขณะที่อำมาตย์พาตัวนางนวลทองสำลีกลับมานั้นได้มีจระเข้นอนขวางคลองอยู่ พวกลูกเรือจึงทำพิธีแทงเข้ตัวนั้นจนถึงแก่ความตาย
 
     ดังนั้น พิธีแทงเข้ (แทงจระเข้)จึงเป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญในงานโนราโรงครูวัดท่าแค และเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของโนราโรงครูในพัทลุง โดยมีความเชื่อว่าตัวเข้หรือจระเข้ (ชาละวัน) นั้นเป็นดังตัวแทนของสิ่งไม่ดี การนำสิ่งไม่ดีมาไว้จึงมีการสร้างตัวเข้จำลองปรากฏตั้งเด่นไว้หน้าลานโรงโนราตั้งแต่วันแรก ให้ผู้คนทำบุญนำเงิน ข้าวของมาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุก โศก โชคร้าย ก็จะให้ลอยไปพร้อมๆกับจระเข้ สำหรับตัวจระเข้นั้นว่ากันว่าคนที่ทำก็ต้องมีความรู้ทางด้านเวทมนต์คาถาด้วย เพราะเมื่อทำตัวจระเข้จำลองขึ้นมาจะมีการทำพิธีบรรจุธาตุ เรียกวิญญาณไปใส่ ทำพิธีเบิกหูเบิกตา เพื่อให้จระเข้ (เหมือน) มีชีวิตซึ่งคนทำจระเข้จำลอง หากทำไม่ถูกต้องก็อาจเกิดเสนียดจัญไรแก่ตนเองได้ ส่วนตัวของจระเข้การใช้วัสดุหลักๆได้แก่ ส่วนหัวจระเข้ทำจากต้นกล้วยพังลาหรือกล้วยตานี (เพื่อให้หอกได้พุ่งปักได้ง่าย) ส่วนตัวมีการประยุกต์วัสดุไปตามยุกต์สมัย เช่น ส่วนตัวเป็นโครงลวดเหล็กหุ้มด้วยเสื่อ พร้อมมีการตกแต่งได้อย่างเยี่ยมยอดทำให้จระเข้จำลองดูมีชีวิตชีวามาก ขณะที่ในการทำพิธีแทงเข้นั้น ก่อนมีพิธีแทงเข้คณะโนราจะแสดงเรื่องไกรทองปูพื้นส่งบทมาจนถึงพิธีการแทงเข้ ที่มีผู้รำ ๗ คน มีนายโรงโนราหรือโนราใหญ่เป็นนายไกร (ไกรทอง) พร้อมกับสหายทั้ง ๖ ซึ่งแต่ละคนจะมีหอกในชื่อต่างๆเป็นอาวุธสำหรับแทงเข้ เมื่อการแสดงและพิธีการต่างๆพร้อมนายไกร ก็จะถือหอกร่ายรำมายังตัวจระเข้แล้วบริกรรมคาถาก่อนจะพุ่งหอกไปปักสวบบนส่วนหัวของจระเข้ ต่อจากนั้นก็ใช้เท้าถีบยันให้จระเข้หงายท้องแล้วสหายโนราทั้ง ๖ ก็ใช้หอกแทงต่อจากโนราใหญ่ พร้อมว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้กับจระเข้ชาละวัน รวมถึงว่าคาถาถอนเสนียดออกจากจระเข้ อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการ ส่วนจระเข้จำลองนั้นก็นำไปลอยทิ้งลงในแม่น้ำเมื่อจบพิธีแทงเข้เสร็จแล้ว
 
      พิธีโนราโรงครู เป็นพิธีการไหว้ครูที่สมบูรณ์แบบตามขนบธรรมเนียมของโนรา โดยมีความเชื่อว่าหากครอบครัวใดสามารถปฏิบัติตามจะพบแต่ความสุขความเจริญ ปลอดภัยจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ นับได้ว่านี้เป็นพีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวใต้ ที่ยังคงผูกพันกับโนราอย่างแนบแน่น มาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งลูกหลานโนราได้ยึดถือปฏิบัติและช่วยกันสืบสาน รักษาไว้ให้คงอยู่กับวิถีชีวิตของชาวภาคใต้สืบไป
 
.........................................................................
 
ขอบคุณที่มา : วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย,หนังสือ โนราศิลปะการร้อง รำที่ผูกผันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/2/84b73889
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)