กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “นิลพัท คู่เหมือน-คู่กัดหนุมาน”

วันที่ 2 ส.ค. 2564
 

 
    "นิลพัท” เป็นพญาลิงที่ได้ชื่อว่ามีรูปลักษณ์เหมือนหนุมานเกือบทุกอย่าง กล่าวคือ มีกุณฑล ขนเพชร เขี้ยวแก้ว เวลาสำแดงเดชจะมี ๔ หน้า ๘ มือ สิ่งที่ต่างมีเพียง หนุมานมีกายสีขาว ส่วนนิลพัทจะมีกายสีดำ ทั้งสองต่างเป็นพญาลิงที่มีอิทธิฤทธิ์แกร่งกล้าไม่แพ้กัน แต่แทนที่จะเป็นทหารเอกคู่หูดูโอช่วยกันรบ กลับเป็นคู่กัดที่ยอมกันไม่ได้ เป็นอย่างไร เรามาเล่าสู่กันฟัง
 
     กล่าวถึงท้าวมหาชมพู พญาวานรผู้ครองนครชมพู มีมเหสีชื่อแก้วอุดร แต่ไม่มีโอรสธิดา พระอิศวรจึงประทาน "นิลพัท” ลูกของพระกาฬ ที่ยกให้พระองค์ ไปเป็นบุตรบุญธรรมของท้าวมหาชมพู (บางแห่งก็ว่าให้เป็นหลาน) ท้าวมหาชมพูเป็นเพื่อนรักกับพาลี เจ้าเมืองขีดขิน เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มากตนหนึ่ง นอกจากมหาเทพแล้ว ท้าวเธอก็ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เมื่อพระรามจะเริ่มยกทัพจับศึกกับทศกัณฐ์ ได้มอบหมายให้สุครีพและหนุมานไปเชิญท้าวมหาชมพูมาเข้าเฝ้าเพื่อขอให้เป็นพันธมิตรช่วยรบ แต่ท้าวมหาชมพูไม่สนใจ หนุมานจึงร่ายมนต์สะกดให้หลับแล้วยกทั้งแท่นบรรทมไปถวายหน้าพระราม นิลพัทได้แปลงตัวเป็นแมลงวันตามไปช่วย แต่ถูกหนุมานขวางไว้ ต่อมาเมื่อท้าวมหาชมพูทราบว่าพระรามคือ พระนารายณ์อวตาร จึงยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมทัพด้วย กระนั้นนิลพัทก็ยังผูกใจเจ็บหนุมานตลอดมา คงเป็นเพราะทั้งตนเองและท้าวมหาชมพูต่างก็มีฤทธิ์เดชไม่น้อย แต่ก็ยังถูกหนุมานลูบคมในบ้านตนเอง จึงแค้นใจไม่หาย
 
      ต่อมาเมื่อพระรามสั่งให้สุครีพนำกองทัพลิงไป "จองถนน” สุครีพจึงสั่งให้นิลพัทคุมไพร่พลลิงฝั่งเมืองชมพู ส่วนหนุมานคุมไพร่พลลิงฝ่ายเมืองขีดขิน ผลัดกันรับ-ส่งหินทิ้งลงทะเลเพื่อทำเป็นถนนข้ามไปกรุงลงกา ระหว่างทำหน้าที่ดังกล่าว นิลพัทเห็นเป็นโอกาสที่จะกลั่นแกล้งหนุมานเพื่อแก้แค้น อีกทั้งอยากลองกำลังดูว่าใครเหนือกว่า นิลพัทจึงไปเนินเขาหิมพานต์ แล้วใช้สองเท้าคีบเขาหิมวันต์ และสองมือยกภูเขาใหญ่ เหาะกลับมา แล้วบอกให้หนุมานรับ หนุมานเห็นหินก้อนมหึมาขนาดนั้น จึงบอกให้นิลพัททิ้งหินมาทีละไม่เกินสองก้อน นิลพัทได้ทีจึงร้องเย้ยหนุมานว่า ไหนว่าเก่ง จะทิ้งลงไปกี่ก้อนก็ต้องรับได้ซิ ว่าแล้วก็จงใจทิ้งหินทั้งสี่ก้อนโครมลงไป หวังให้ทับหนุมาน แต่หนุมานสามารถรับไว้ได้ พอถึงคราวหนุมานๆ ก็แกล้งเอาหินผูกขนทุกเส้นในกาย แล้วสลัดลงไปโครมเดียวพร้อมกันบ้าง แต่นิลพัทก็แน่จริง รับไว้ได้หมดเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องใช้สองเท้าช่วย หนุมานเลยด่าทอว่านิลพัทดูถูกตน ใช้เท้ารับก้อนหิน นิลพัทก็โกรธ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จึงโจนเข้าโรมรันพันตูต่อสู้กันวุ่นวาย ใครห้ามก็ไม่ฟัง ความทราบไปถึงพระราม แม้จะโกรธพญาลิงทั้งสองตน แต่เมื่อการศึกยังไม่สิ้น อีกทั้งเห็นชอบกับสุครีพที่ขอผ่อนผัน และแนะให้แยกทั้งสองไปทำงานคนละแห่ง ดังนั้น นิลพัทจึงถูกส่งไปเมืองขีดขินเพื่อทำหน้าที่จัดส่งเสบียงให้กองทัพทุกเดือน ส่วนหนุมานก็ถูกสั่งให้จองถนนให้สำเร็จภายใน ๗ วัน โดยมีข้อแม้ว่า หากทั้งสองไม่สามารถทำตามที่กำหนดหรือทำไม่ทัน พระรามก็จะสังหารเสีย ดีที่ต่างก็มิใช่ลิงธรรมดา จึงทำภารกิจได้สำเร็จ
 
      ภายหลังเมื่อเกิดศึกลงกาครั้งที่ ๒ หรือศึกท้าวจักรวรรดิ นิลพัทได้อาสาเป็นทัพหน้าให้แก่พระพรต และพระสัตรุด โดยได้แสดงความสามารถทอดตัวเป็นสะพานให้กองทัพข้ามไปตีกรุงลงกา และยังได้ช่วยฆ่ายักษ์กระบิลตาย ต่อมายังได้ร่วมกับอสุรผัดทำลายพิธีชุบกระบองของท้าวไวยตาล และฆ่าท้าวไวยตาลได้สำเร็จ เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาครั้งนี้ นิลพัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "พระยาอภัยพัทวงศ์” อุปราชเมืองชมพู
 
      ในบรรดาพญาลิงทั้งหลาย ได้เคยมีผู้จัดลำดับความเก่งไว้ต่างๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น บางแห่งจัดไว้ว่า
 
       ลำดับที่ ๑ ได้แก่ พญาพาลี ลูกพระอินทร์ เป็นผู้มีฤทธิ์เก่งกล้า และยังได้รับพรจากพระอิศวรว่า ถ้ารบกับใคร อีกฝ่ายจะต้องเสียพลังให้กับพาลีกึ่งหนึ่ง แบบนี้รบกับใคร ย่อมไม่มีวันแพ้ แต่ที่พาลีต้องตาย ก็เพราะเสียสัตย์ จึงยอมตายเองด้วยศรพระราม
 
      ลำดับที่ ๒ ได้แก่ หนุมาน ลูกพระพาย นอกจากจะมีฤทธิ์เดชมากมายแล้ว ยังเป็นอมตะ ไม่ว่าตายอย่างไร หากมีลมพัดมา ก็จะฟื้นได้เสมอ ดังนั้น ใครฆ่าก็ไม่ตาย
 
      ลำดับที่ ๓ ได้แก่ สุครีพ ลูกพระอาทิตย์ รบไม่เคยแพ้ใคร ยกเว้นพาลีพี่ชาย
 
      ลำดับที่ ๔ ได้แก่ นิลพัท ลูกพระกาฬ แม้จะแข็งแกร่ง มีฤทธิ์แยะไม่แพ้หนุมาน แต่ก็ด้อยกว่าตรงที่ถ้าถูกฆ่า จะตายแล้วตายเลย ไม่มีการฟื้น
 
      สำหรับลำดับที่ ๑ และ ๒ ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกัน ส่วนลำดับถัดๆ ไป ก็มีสลับกันไปบ้าง หรือมีชื่อพญาลิงตนอื่นอย่าง "องคต” แทรกขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับความคิดเห็นและความชอบของแต่ละคน แต่ไม่ว่าตนไหน ก็กล่าวได้ว่าเก่งกาจ "ชั้นเทพ” ทั้งสิ้น
 
........................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : www.pinterest.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)