กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน องค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังไทย

วันที่ 23 ก.ค. 2564
 

     การเขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณีจะเขียนขึ้นจากจินตนาการไม่ได้จำลองขึ้นจากธรรมชาติ เป็นภาพที่เขียนแบบแบนๆสองมิติ ไม่มีแสงเงา ภายหลังได้รับอิทธิพลการเขียนภาพจากตะวันตก จึงเกิดการเขียนภาพที่มีแสงเงา แต่องค์ประกอบภาพจิตรกรรมยังคงยึดแบบเดิมไว้ ส่วนการเขียนภาพมุมมองของนก (bird’s eye view) เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน

 
     จิตรกรรมฝาผนังอาจแบ่งตามการใช้โทนสีในการเขียนได้เป็นประเภทจิตรกรรมเอกรงค์ และจิตรกรรมพหุรงค์
 
     จิตรกรรมเอกรงค์ เป็นงานจิตรกรรมที่ใช้สีเพียงสีเดียวเป็นหลัก และอาจมีสีอื่นๆ ประกอบด้วยแต่ไม่มาก และกลมกลืนไปในโครงสีหลัก เมื่อมองดูจะเห็นเป็นสีเดียวโดยตลอด เช่น จิตรกรรมในกลุ่มพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้สีแดง มีการตัดเส้นโดยสีดำและปิดทองบางส่วน
 
     จิตรกรรมพหุรงค์ เป็นงานจิตรกรรมที่มีการใช้สีประกอบกันหลายสี ไม่เป็นโครงสีเดียวกันตลอด อย่างไรก็ดีจิตรกรผู้สร้างสรรค์งานจำเป็นต้องคำนึงถึงความกลมกลืนของสีต่างๆ ตัวอย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร ที่ใช้สีหลากหลาย เช่น สีดำ แดง เขียว น้ำเงิน และสีทอง
 
     ส่วนการแบ่งภาพจะแบ่งเป็นตอนๆ ในงานจิตรกรรมฝาผนังไทย จิตรกรจะใช้วิธีคั่นด้วยการเขียนแถบรูปร่างเส้นหยักเหมือนฟันปลาหรือเขายอดแหลม เรียกว่า "เส้นสินเทา” "เส้นคดกริช” "เส้นแผลง” หรือบางครั้งเขียนเป็น "ลายฮ่อ” ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบผ้าสะบัดกลับไปกลับมาในการแบ่งภาพ
 
     ส่วนในการเขียนภาพหน้าคน ถ้าเขียนด้านหน้าตรงๆ เรียกว่า "หน้าอัด” ถ้าเขียนหน้าด้านข้างเรียกว่า "หน้าเสี้ยว”
 
     อย่างไรก็ดี แม้ว่าจิตรกรรฝาผนังภายในพระอุโบสถ พระวิหาร จะมีจุดประสงค์หลักเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แต่ภาพและเรื่องราวที่เขียนยังแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คน และสภาพบ้านเมืองที่แสดงอยู่ในจิตรกรรมนั้นๆ จึงเป็นหลักฐานสำคัญอันเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เรื่องราวในอดีตได้อีกทางหนึ่ง
 
     เนื้อหาเพิ่มเติม >>>องค์ประกอบจิตรกรรมฝาผนังพร้อมภาพประกอบ
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)