วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ ในยุคสมัยที่ทรงครองราชย์สมบัติ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริม เป็นยุคที่งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวรรณกรรม ในยุคสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ เห็นได้จากการทรงงานพระราชนิพนธ์วรรณกรรม ไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อิเหนา เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก ไว้ถึง ๕ เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวรรณกรรม จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม จาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (ในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครับ ๒๐๐ พรรษา)
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงทำนุบำรุงงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สร้างขวัญและกำลังใจให้ศิลปินผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันศิลปินแห่งชาติ” โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินสาขาต่างๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง และผ่านการคัดเลือก ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ตามกฎกระทรวงแห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ระบุว่า "ศิลปินแห่งชาติ” หมายถึง ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าและแสดงศักดิ์ศรีของชาติ ซึ่งกำหนดให้ศิลปินแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะในสาขา ต่อไปนี้
-สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น
-สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ
-สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้ ๑.ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ๒. ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล และ ๓.ภาพยนตร์และละคร
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และมีประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แล้วจำนวนรวม ๒๔๖ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๑๐๑ คน และยังมีชีวิตอยู่ ๑๔๕ คน โดยในปีนี้มีศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๖ จำนวน ๙ คน ประกอบด้วย
สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๒ คน ได้แก่ นายช่วง มูลพินิจ (จิตรกรรม) เป็นศิลปินไทยร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม เป็นผลงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ นำภูมิปัญญาของไทยมาผสมผสานแนวความคิดแบบตะวันตกได้อย่างบูรณาการ และ นายธีรพล นิยม (สถาปัตยกรรม) ผู้สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวให้ธรรมชาติเป็นพลังช่วยพื้นฟูชีวิตแก่ผู้อาศัย นำศิลปะพื้นถิ่นไทยร่วมสมัยมาเป็นฐานบ่มเพาะสถาปนิกรุ่นเยาว์ให้มีจิตสำนึกเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๓ คน ได้แก่ นางรำไพพรรณ สุวรรณสาร ศรีโสภาค นามปากกาโสภาค สุวรรณ นักเขียนนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น ฟ้าจรดทราย สายโลหิต ญาติกา ปุลากง
เงาพระจันทร์ จิตปาตี หนังหน้าไฟ ฯลฯ เป็นวรรณกรรมที่ให้ความบันเทิงเปี่ยมด้วยสาระ , นายวินทร์ เลี้ยววาริณ นามปากกา วินทร์ เลียววาริณ วรรณกรรมของเขาเป็นงานศิลปะที่สัมผัสได้หลายมิติ ประสานพลังทัศนศิลป์เข้ากับวรรณศิลป์ สื่อสารถึงผู้อ่านได้อย่างลุ่มลึก ในรูปแบบงานเขียนที่หลากหลาย และ นายเจริญ มาลาโรจน์ นามปากกา มาลา คำจันทร์ มีผลงานนวนิยายเรื่องดัง เช่น "วิถีคนกล้า” ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ งานเขียนส่วนใหญ่โดดเด่นด้วยสีสันและกลิ่นอายของท้องถิ่น สะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตของคนในชนบท ใช้ภาษาถิ่นมานำเสนอได้อย่างสละสลวย กระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๔ คน ได้แก่ นางนิตยา รากแก่น (การแสดงพื้นบ้าน–หมอลำ) หรือบานเย็น รากแก่น ได้รับฉายา ราชินีหมอลำ สร้างสรรค์พัฒนาวงการเพลงพื้นบ้าน เพลงหมอลำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้เพลงพื้นบ้านอีสานเป็นที่รู้จักเผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งยังได้ผลิตนักร้องหมอลำรุ่นใหม่ นักร้องนักเต้นอีสานออกมารับใช้สังคมจำนวนมาก , นายยืนยง โอภากุล (สาขาย่อย ดนตรีไทยสากล) หรือแอ๊ด คาราบาว เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง นักเขียน นักแสดง ใช้บทเพลงเป็นสื่อเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม เป็นหนึ่งในตำนานเพลงเพื่อชีวิต ผู้ก่อตั้ง "วงคาราบาว” สร้างสรรค์ผลงานเพลงได้หลากหลาย รวมถึงเพลงที่ใช้เพื่อวาระพิเศษ โดยไม่แสวงผลกำไรให้แก่องค์กรทางสังคมและหน่วยงานราชการ ก่อตั้งมูลนิธิคาราบาวเพื่อให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน , นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร หรือ ฉลอง ภักดีวิจิตร (ผู้กำกับ–ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน พระสุรัสวดี สองปีซ้อนในฐานะช่างภาพยอดเยี่ยม และผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับสร้างสรรค์ภาพยนตร์ด้วยความมุ่งมั่น ผลักดันให้วงการภาพยนตร์แนวบู๊แอ๊คชั่นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง "ทอง” เป็นภาพยนตร์ที่มีการสร้างออกมาหลายภาค ได้รับรางวัลเกียรติยศจากทั้งของไทยและต่างชาติ และ นายเฉลิม ม่วงแพรศรี (ดนตรีไทย) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบรรเลงซอชนิดต่างๆ โดยเฉพาะซอสามสายถือได้ว่าเป็นอันดับต้นของประเทศ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพมากมาย ทั้งยังมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลงไทย และทางเดี่ยวซอชนิดต่างๆ ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทย และได้รับการยกย่องให้เป็นเสาหลักของแผ่นดินด้านดนตรีไทย อีกด้วย
โดยศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ทั้ง ๙ คน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะนำเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และจะมีการจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดี พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๖ เพื่อถ่ายทอดสู่สาตาสาธารณชน ได้ศึกษาชีวประวัติ ผลงานอันทรงคุณค่าต่อไป
ดั่งพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ดังนี้
"ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมาย แสดงอารยะธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของ ท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผลงานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป"
จากพระราชดำรัส "ศิลปินแห่งชาติ” จึงนับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญของวงการศิลปวัฒนธรรม ที่มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้ได้รับการสืบทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และเป็นการดำรงรักษามรดกภูมิปัญญาของชาติให้รุ่งเรืองสืบต่อไป
***************
รายงานโดย นายศาตนันท์ จันทรวิบูลย์
กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
|