
"วันพระ" วันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่ชาวพุทธส่วนใหญ่รับรู้โดยทั่วไปว่า ในแต่ละเดือนจะมีวันพระ ๔ วัน ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ) ซึ่งกำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ดินแดนถิ่นกำเนิดศาสนาพุทธ
แล้วเหตุใดทำไมถึงต้องมีวันพระ ?
วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงยังไม่ได้กำหนดวันพระไว้ คราว พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระวิหารเชตวัน และกราบทูลว่า ข้าพระองค์แลเห็น นักบวชศาสนาอื่นได้มีวันกำหนดนัดหมายประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในที่ประชุมของเขาทั้งหลาย แต่เหตุอันใดศาสนาพุทธของเราหาได้มีวันกำหนดนัดหมายเพื่อประชุมหารือฟังข้อธรรมะกันบ้าง หลังเหตุการณ์นั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้เหล่าภิกษุสาวกประชุมกันเพื่อสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ได้ฟังกันในวันขึ้น ๘ ค่ำ หรือ หรือว่า วันขึ้น๑๔ ค่ำ หรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น "วันธรรมสวนะ” กำหนดให้มีการประชุมโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อฟังธรรม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธอย่างเป็นรูปธรรม นั่นเอง
คำว่า "สวนะ" แปลว่า การฟัง และคำว่า "ธรรมสวนะ" จึงหมายถึง การฟังธรรม วันฟังธรรม ส่วน "วันพระ” ถือเป็นภาษาพูด เพราะคำว่า "พระ" นั้น ใช้เรียกภิกษุจำนวนมากกว่า ๔ รูป ขึ้นไป ซึ่งก็หมายถึงความเป็นหมู่คณะจึงเรียกว่า พระ หรือ สงฆ์ โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า "วันอุโบสถ” หรือวันลงอุโบสถ อันหมายถึง วันถือศีลของอุบาสกและอุบาสิกาผู้มีศรัทธา ร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรม ประพฤติและปฏิบัติตามธรรมสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน วันพระ วันธรรมสวนะ วันอุโบสถ จึงเป็นวันเดียวกันแต่เรียกขานได้ตามความสะดวก
ประเทศไทยพบหลักฐานว่ามีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และถือเอาวันพระเป็นวันหยุดราชการ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปีปฏิทินทางสุริยะคติอย่างตะวันตกและให้วันเสาร์-อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการตามสากล วันพระที่ถือเป็นวันหยุดจึงถูกยกเลิกไป นี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนิกชน ห่างเหินจากธรรมะห่างจากการถืออุโบสถศีล ด้วยวันพระเป็นวันทำงานไม่สะดวกที่จะเข้าวัดฟังธรรม ก็เป็นได้
"วันพระ” จึงเป็นวันที่ชาวพุทธไม่ควรละเลย ถึงจะเข้าวัดไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใดก็สามารถฟังธรรมเทศนาผ่านทางออนไลน์ ถือศีลห้า ศีลแปด ปฏิบัติธรรมด้วยการสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อถึงบ้านก็สวดมนต์ทำสมาธิ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ new normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ถึงจะห่างวัดแต่ก็ไม่ห่างหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแน่นอน
ภาพ : www.kalyanamitra.org