กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “หอยสังข์ เป็นสิ่งมงคลด้วยเหตุใด”

วันที่ 14 มิ.ย. 2564
 

      "หอยสังข์” เป็นสิ่งเรามักจะพบเห็นกันบ่อยในงานมงคล เช่น งานแต่งงานที่มีการรดน้ำอวยพรคู่บ่าวสาว งานบวงสรวงเทพยดา หรืองานพิธีกรรมต่างๆ ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ก็จะมีการเป่าสังข์เพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ และเสียงจากการเป่าสังข์นี่เองที่ต่อมาได้มีผู้นำไปเปรียบเปรยกับหญิงสาวที่มีสะโพกใหญ่และงามว่านางมี "สะโพกสุดเสียงสังข์” อันหมายถึง มีสะโพกสวยสะดุดตาจนชายหนุ่มต้องเหลียวมองตามจนสุดเสียงสังข์ที่เป่าครั้งหนึ่ง หรือจะหมายถึงมีสะโพกงอนงามจนเป็นที่เล่าลือไปไกลก็ได้

 
      การที่ "สังข์” ซึ่งเป็นหอยทะเลกาบเดี่ยว (กาบเดี่ยว หมายถึง มีเปลือกหุ้มตัวต่อกันเป็นชิ้นเดียว โดยม้วนเป็นวงซ้อนกันและมีช่องให้หอยยื่นตีนออกมาจากเปลือกได้) ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีมงคลต่างๆนั้น ก็เพราะมีตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่พระอิศวรได้สร้างเขาพระสุเมรุ ทรงมีประกาศิตให้พระพรหมธาดาเป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหลาย เป็นเหตุให้พระพรหมองค์หนึ่งเกิดความริษยา จึงไปจุติเป็น "สังขอสูร” อยู่ใต้พระมหาสมุทรเชิงเขาพระสุเมรุ และคอยจ้องรังควานพระพรหมธาดาอยู่เสมอ วันหนึ่งพระพรหมธาดาจะนำคัมภีร์พระเวทไปถวายพระอิศวรเพื่อให้ไว้สำหรับโลก ระหว่างทางเกิดร้อนพระวรกายจึงเสด็จสรงน้ำที่ฝั่งมหาสมุทร และวางคัมภีร์พระเวทไว้ สังขอสูรเห็นดังนั้นก็คิดว่าถ้าไม่มีคัมภีร์พระเวทไว้สั่งสอนโลกแล้ว เทพยดาและมนุษย์ก็จะไม่นับถือพระพรหมธาดาต่อไป จึงให้ผีเสื้อน้ำไปขโมยคัมภีร์นั้นมาแล้วกลืนลงท้องไป พระพรหมธาดาเมื่อไม่เห็นคัมภีร์จึงเสด็จไปเฝ้าพระอิศวรและกราบทูลให้ทราบเรื่อง หลังจากส่องญาณจนทราบความจริง พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์ไปจัดการกับสังขอสูร เมื่อพระนารายณ์เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ ก็ได้ใช้พระหัตถ์ล้วงเข้าไปในปากสังขอสูรเอาคัมภีร์พระเวทคืนมา ปากสังข์จึงได้มีรอยนิ้วพระนารายณ์ประทับอยู่ และด้วยพระนารายณ์ทรงเห็นว่ารอยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ที่ปรากฏอยู่บนปากสังข์ก็ดี ท้องสังข์ที่เคยเป็นที่บรรจุคัมภีร์ไว้ก็ดี สังขอสูรที่เคยเป็นพรหมมาก่อนก็ดี ทั้งสามอย่างนี้ล้วนมีอานุภาพแห่งความเป็นมงคลอยู่ในตัว จึงตรัสว่าต่อไปภายหน้า บุคคลใดจะทำการมงคล ให้เอาสังข์ไปเป่า ได้ยินเสียงถึงสถานที่ใดก็เป็นอุดมมงคลจนสุดเสียงสังข์นั้นแล สำหรับตำนานนี้ บางแห่งอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง นอกจากตำนานดังกล่าวแล้ว "สังข์” ยังเป็น ๑ ใน ๑๔ ของศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตของเทวดาและอสูร และเป็น ๑ ใน ๔ เทพศาสตราวุธที่พระนารายณ์ทรงไว้ในหัตถ์อีกด้วย (มีจักร คทา ดอกบัวและสังข์) โดยสังข์ถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นเครื่องเป่าเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้ "สังข์” จึงได้กลายมาเป็นสิ่งมงคลในการประกอบพิธีต่างๆ
 
      โดยทั่วไป แม้เราจะเห็น "หอยสังข์” มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่จริงๆ แล้วมันมีหลายชนิด หลายสกุลในหลายวงศ์ แต่ละชนิดจะมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่พบตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมากมักจะพบในเขตร้อน อาทิ สังข์ศรีลังกา สังข์อันดามัน สังข์อินเดีย สังข์บราซิล สังข์แคริบเบียน และสังข์ยักษ์แอฟริกา เป็นต้น ส่วนสังข์ที่พบในไทยคือ สังข์สุวรรณภูมิหรือสังข์อันดามันในน่านน้ำไทยฝั่งอันดามัน แต่หลังจากเกิดคลื่นสึนามิในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ ปรากฏว่าไม่พบสังข์ชนิดนี้อีกเลย ลักษณะนามของสังข์จะเรียกว่า "ขอน” ไม่เรียกเป็น "ตัว” เหมือนสัตว์อื่น
 
      สำหรับสังข์ที่นิยมใช้ในพิธีมงคลอย่างแพร่หลาย คือ สังข์อินเดีย เนื่องจากมีลักษณะถูกต้องตามหลักความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ นอกจากนี้ในอดีตสังคมอินเดียยังแบ่งสีของสังข์ตามวรรณะเพื่อเป็นเครื่องใช้ประจำตัวอีกด้วย กล่าวคือจะใช้สีขาว สำหรับพราหมณ์ สีแดง น้ำตาล ชมพู สำหรับกษัตริย์ สีเหลือง สำหรับไวศยะหรือพ่อค้า และสีเทา ดำ สำหรับ ศูทร ชาวไร่ชาวนา และผู้ใช้แรงงาน
 
      ในปัจจุบัน นอกจากจะใช้ในงานมงคลแล้ว "สังข์” บางชนิดก็ได้กลายมาเป็นของสะสมที่หายากและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะสังข์เวียนขวา หรือสังข์ทักษิณาวัตร ที่นิยมเรียกกันว่า "มหาสังข์” เป็นสังข์ที่ราคาแพงมาก บางขอนมีค่านับล้านบาท ด้วยโอกาสจะเจอในธรรมชาติมีน้อยมาก ส่วนสังข์ที่พบโดยทั่วไปมักจะมีลักษณะเวียนซ้าย (อุตราวรรต) คนโบราณจึงถือว่าสังข์เวียนขวาเป็นของศักดิ์สิทธิ์หายาก การดูว่าเป็นสังข์เวียนขวาหรือซ้าย ให้หันด้านที่เป็นจุกม้วนวนเข้าหาตัวเรา หากปากสังข์ (ส่วนที่แบออก)เปิดไปทางขวา นั่นคือ มหาสังข์
 
       นอกเหนือจากบ้านเราแล้ว ในหลายประเทศหรือบางเชื้อชาติทั้งแถบยุโรป และเอเซียก็ถือว่า "สังข์” เป็นสิ่งนำความสิริมงคลมาสู่ตน เช่น ชาวฮินดูมักพกหอยสังข์ตัวเล็กเป็นเครื่องรางเพื่อช่วยการค้าให้ประสบความสำเร็จ ชาวทมิฬก็มีตำนานว่าพระลักษมีจุติมาเกิดเป็นหอยสังข์ ชาวเกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ใช้สังข์แตรเป่าในพิธีกรรมของตน และชาวอังกฤษแต่เดิมก็ถือว่าหอยเป็นสิ่งนำโชค เป็นต้น
 
       และทั้งหมดก็คือ ตำนานและที่มาความเป็นมงคลของ "หอยสังข์” ที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ค่ะ
 
..................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : หนังสือ สังข์ ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำนักพิมพ์มติชน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)