กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
วันฉัตรมงคล วันมงคลของชาติ


 

          วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประกอบ พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี จึงถือว่า วันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันมงคลสมัย พสกนิกรและรัฐจึงได้ร่วมกันจัดพระราชพิธีขึ้นเรียกว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล

          พระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงาน ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม จะเป็นงานพระราชราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี เป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี (สดับปกรณ์คือ พิธีสวดมาติกาบังสุกุล) วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศ พระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น วันที่ ๕ พฤษภาคม อันเป็นวันฉัตรมงคล จะมีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวีชนี ฉลองพระบาทเชิงงอน จากนั้นทหารบก ทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด และวันนี้ก็จะมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดีให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นบุรุษและสตรี อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมรูปตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

          นับแต่ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทร ทราธิราชบรมนาถบพิตร อันเป็นพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏ หรือที่ประชาชนชาวไทยได้น้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญาว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ก็ได้ทรงตรากตรำพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อพสกนิกรชาวไทยสมดัง พระราชปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ

          พระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์หลากหลายด้านนี้ เกิดขึ้นจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ทรงเห็นและตระหนักในทุกข์ของประชาชนและกลายเป็นความผูกพันและห่วงใยอันลึกซึ้งและยืนยาวที่ทรงมีต่อประชาชน ความผูกพันและห่วงใยนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทรงทุ่มเท พระวรกายและพระราชหฤทัยคิดค้นหาทางอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ประชาชนคลายทุกข์และอยู่ดีกินดี เพราะประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงสนพระทัยโดยเฉพาะในเรื่องดินและน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรรม ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนทรงมีความรู้แตกฉาน และพระราชทานความคิดเห็นที่นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริที่มีอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ โครงการทั่วประเทศ

          ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ  อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์อาทิ "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา และได้ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

          เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทาง สายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม "๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้" และ "คุณธรรม"

          ตลอด ๖๐ ปีภายใต้ร่มฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต ด้วยทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะสาขาต่างๆ อาทิ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และ นฤมิตศิลป์ เป็นต้น จึงทรงได้รับการยกย่องสดุดีในพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัด บรรดาศิลปินต่างตระหนักในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ จึงพร้อมใจกันเทิดทูนพระเกียรติยศให้เป็นที่ปรากฏแก่พสกนิกรและชาวโลก

          สำหรับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ อาจจะร่วมเฉลิมฉลองในวันนี้ด้วยการประดับธงชาติตามอาคารสถานที่ตั้ง หรืออาจจะจัดการเสวนา หรือสัมมนาทางวิชาการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญของพระราชพิธีนี้ว่าเป็นมาอย่างไร หรือกิจกรรมอื่นๆที่เห็นว่าเหมาะสม แต่ที่สำคัญที่ประชาชนชาวไทยทุกคนควรระลึกถึงในวันฉัตรมงคลนี้ก็คือ เป็นวันที่เราได้พระมหากษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง ด้วยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

          เนื่องในวโรกาสวันที่ ๕ พฤษภาคม "วันฉัตรมงคล” เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งนี้ ซึ่งเป็นวันมงคลของชาติ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำแต่สิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนเองและแก่บ้านเมือง ด้วยการน้อมรำลึกถึงการอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยอันใหญ่หลวงและยาวนานที่ พระราชทานแก่คนไทยและเมืองไทย หากนึกไม่ออกว่า ในวันมหามงคลวันนี้ จะสนองพระมหาเมตตาธิคุณและ พระมหากรุณาธิคุณอย่างไร ก็ควรทำด้วยการงดเว้นไม่ทำความชั่ว ทำแต่สิ่งที่เชื่อว่าเป็นความดี และทำใจของตนให้สงบและสะอาด ไม่ยอมให้มัวหมองเพราะกิเลส แล้วน้อมเกล้าฯ อุทิศผลบุญที่ได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

 บทความโดย
นางสาว ปณิสรา เสถียรถาวร
(นักศึกษาฝึกงาน) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)