กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เอกลักษณ์ผ้าทอเกาะยอจังหวัดสงขลา

วันที่ 8 มิ.ย. 2564
 

      เกาะยอเป็นเกาะเล็กๆเกาะหนึ่งในทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งทอผ้า ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งทางภาคใต้ เรียกว่า ผ้าทอเกาะยอ ชาวเกาะยอทอผ้ามาตั้งแต่โบราณนับร้อยปีมาแล้ว การทอผ้าเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่ถ่ายทอดกันในครัวเรือนและทอใช้ภายในครอบครัวและแจกญาติมิตร กล่าวกันว่า ชาวเกาะยออพยพมา จากบ้านท่านางหอม อำเภอหาดใหญ่ และจากตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาชาวเกาะ ทั้งสองกลุ่มนี้น่าจะประกอบอาชีพทำสวน ปั้นหม้อและทอผ้าก่อนที่จะอพยพไปอยู่บนเกาะยอ ทั้งนี้เพราะในบริเวณจังหวัดสงขลาเคยเป็นแหล่งทอผ้ามาแต่โบราณกาล ดังที่ปรากฏว่า เมื่อครั้งต้นสมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเคยให้กรมการเมืองกวาดต้อนช่างทอผ้าจากเมืองสงขลาไปไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชแสดงให้เห็นว่าเมืองสงขลาจะต้องเป็นดินแดนที่มีการทอผ้าพื้นเมืองมาแต่โบราณ แต่การทอผ้าพื้นเมืองของสงขลาต้องเลิก ไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองจนปัจจุบันเหลืออยู่ที่เกาะยอเท่านั้น
 
      การทอผ้าเกาะยอในระยะแรกใช้กี่มือและใช้เครื่องมือที่ชาวใต้เรียกว่า"ตรน”แทนกระสวย ใช้ฝ้ายที่ปลูกเอง ย้อมผ้าเอง โดยใช้สีที่ได้จากธรรมชาติแบบพื้นบ้าน ซึ่งส่วนมากจะได้จากเปลือกไม้ แก่น ราก และผล ในสมัยโบราณชาวเกาะยอทอผ้าโดยไม่มีการตั้งชื่อลายผ้า อาศัยการจดจำทอกันมาตามอย่างบรรพบุรุษ บางครั้งมีการพลิกแพลง ดัดแปลง ทอเป็นลวดลายที่แปลกออกไปจากเดิม และมีความสวยงาม กลายเป็นที่นิยมเลยทอต่อๆกันมา ปัจจุบันช่างทอผ้านิยมทอผ้าลายพื้นบ้านของเกาะยอเอง ส่วนใหญ่เป็นลายดั้งเดิม แต่อาจมีการประยุกต์ตกแต่งรายละเอียดให้แตกต่างไปจากเดิมบ้างเล็กน้อย แต่ยังเค้าโครงเดิมไว้จึงเกิดลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมากมายซึ่งมีประมาณ ๕๘ ลายแต่ถ้าแบ่งออกตามช่วงระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ช่วงดังนี้
 
     ๑. ลายผ้าเกาะยอแบบดั้งเดิม เช่น ลายพญาครุฑ ลายหน้านาง ลายดอก โบตั๋น ลายตับเต่า ลายครุฑล้อม ลายดอกรัก ลายเข็มทอง และลายเทพพนม ซึ่งเป็น ลายโบราณที่ทอแบบสิบสองตะกอ ซึ่งในปัจจุบันหาช่างทอแบบสิบสองตะกอไม่ได้อีกแล้ว ลายคดกริช ลายราชวัตร ลายราชวัตรก้านแย่ง ลายดอกพยอม ลายข้าวหลามตัด ลาย โกเถี้ยมหรือลายสมุก ลายตะเครียะ ลายลูกแก้ว
 
     ๒.ลายผ้าเกาะยอในปัจจุบัน เช่น ลายลูกโซ่ ลายสี่เหลี่ยม ลายดอกมุก ลายดอกจันทน์ ลายลูหวาย ลายบุหงา ลายดอกโคม ลายลูกสน ลายดอกพิกุล ลายดอกชวนชม นอกจากนี้ยังมีผ้าเกาะยอบางลายที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ อาทิ ลายเครือวัลย์และลายทะเลทิพย์ เป็นต้น
 
     การทอผ้าทอเกาะยอเป็นงานที่ยากต้องอาศัยเวลา จึงทำให้ผ้าราคาสูงและมีความสวยงาม เป็นมันเงางามอยู่ในตัวจนเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอเกาะยอ การทอผ้าเกาะยอ มี ๒ ลักษณะ คือ
 
     ๑.การทอสลับสี เป็นการทอผ้าแบบพื้นบ้านคือ การทอผ้าที่ใช้ตะกอเพียง ๒ ตะกอ โดยทำการยกเส้นด้ายยืนเพื่อสอดด้ายพุ่งเข้าไปทำให้เกิดเป็นผืนผ้า ซึ่งเราจะเห็นว่าการทอผ้าแบบพื้นบ้านนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ การทอสลับสี เป็นการทอผ้าสลับสีทั้งด้ายยืนและด้ายพุ่งเช่น การทอผ้าขาวม้า และการทอแบบตีเกลียวสลับสี ซึ่งเราจะได้ยินชื่อผ้าชนิดนี้ว่า ผ้าหางกระรอก ผ้าตาสมุท์ (ตาสมุก) หรือลายตะเครียะ
 
     ๒. การทอยกดอก เป็นการทอผ้าเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ จะใช้ตะกอเป็นตัวทำลวดลาย ในการทอผ้าเกาะยอมีตั้งแต่สองตะกอ สี่ตะกอ หก ตะกอ แปดตะกอ จนถึงสิบสองตะกอ เช่นผ้าลายต่าง ๆ ซึ่งคุณภาพและความละเอียดของลวดลายต่างก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของตะกอที่ใช้
 
      สำหรับเอกลักษณ์ของผ้าทอเกาะยอ คือ ความโดดเด่นของลวดลายผ้าทอเกาะยอ อยู่ที่การใช้สีและการจัดวางลาย โดยเฉพาะลายผ้ามี เอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนจุดเด่นของการใช้สีของผ้าทอก็คือ การใช้สีขับเน้นลายผ้าให้โดดเด่ดเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ถ้าพื้นของผ้าเป็นสีอ่อน รูปหรือลายผ้าจะเป็นสีเข้ม ในทางกลับกันถ้าพื้นของผ้าเป็นสีเข้ม รูปหรือลายผ้าจะเป็น สีอ่อนกว่าเสมอ เป็นต้น ส่วนการจัดวางลายเป็นลายที่มีความสมดุลกันคือลายจะเหมือนกันทั้งสอง ด้านซ้ายและขวา ขนาดของลวดลายที่มีช่วงจังหวะประสานต่อเนื่องกันเป็นระยะที่แน่นอน มีขนาดเล็กๆ ทุกคน สามารถสวมใส่ได้ตามต้องการ ทำให้ผ้าเกาะยอเป็นผ้าทอที่มีคุณค่าทางด้านความงาม จนได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว ระดับประเทศ ประจำปี ๒๕๔๗ แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ้าเกาะยอ มีจำหน่ายที่กลุ่มทอผ้าราชวัตถ์ เลขที่ ๓๘ หมู่ ๓ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ๙๗๑๐๐ โทร.๐๗๔ -๔๕๐-๗๒๙
 
................................................
 
ที่มา: หนังสือ ผ้าทอพื้นเมืองในภาคใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, https://www.sacict.or.th/th/detail/2018-09-14-11-35-v-LEm,
ภาพ : The Cloud ( readthecloud.co )
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)