
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงเรียกของกินเล่น หรืออาหารที่กินบางช่วงเวลาว่า "ของว่าง” หรือ "อาหารว่าง” อาหารเหล่านี้มีที่มาอย่างไร จะเป็นเช่นเดียวกับ "เบรค” (break) อันได้แก่ น้ำชากาแฟ ขนมต่างๆที่กินกันในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร เรามาเล่าสู่กันฟัง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ได้ให้คำจำกัดความ "ของว่าง” ว่า หมายถึง ของกินนอกเวลากินอาหารตามปกติ มักจะกินในเวลาบ่าย อาหารว่างก็ว่า ราชาศัพท์ใช้ว่า เครื่องว่าง
ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ได้กล่าวถึง "ของว่าง” ว่าหมายถึง ของกินหรือเครื่องกินที่นิยมกินกันในยามว่าง หรือกินต่อภายหลังจากที่กินมื้อกลางวันล่วงไปนาน แต่ยังไม่ถึงเวลากินมื้อเย็น หรือกินในช่วงเวลาพักจากงานต่างๆ เป็นต้น คตินิยมกินของว่างในหมู่คนไทยภาคกลางมีอยู่นานมาแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ชนอันมีจะกิน ปกติมักกินในตอนบ่าย แต่ที่กินของว่างเวลาอื่นก็มี
ส่วนในวิกิพีเดีย ได้พูดถึง "ของว่าง” หรือ "อาหารว่าง” (Snack) ว่าในสายตาของชาวตะวันตก คือ ประเภทของอาหารที่ไม่ได้บริโภคเป็นอาหารหลักในแต่ละวัน
จากข้างต้น พอสรุปได้ว่า "ของว่างหรืออาหารว่าง” ก็คือ อาหารที่กินระหว่างอาหารมื้อหลัก หรือกินยามว่าง ดังนั้น คำว่า "ว่าง” จึงหมายถึง ช่วงเวลาที่ว่างนั่นเอง กล่าวกันว่า การกินของว่างยามบ่าย เป็นธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสมัยก่อนเมื่อทำงานตั้งแต่เช้าไปจนเที่ยงที่อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้เหนื่อยง่าย ยามบ่ายจึงมักพักงานที่ไม่ด่วนหรือไม่สำคัญไว้ก่อน ครั้นพอมีเวลาว่าง จึงมักทำของกินเป็นการฆ่าเวลา อีกทั้งการกินของว่างยามบ่ายถือได้ว่าเป็นการรองท้องก่อนกินอาหารมื้อเย็น ส่วนความนิยมกินของว่างตอนกลางคืนนั้น เป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นและถือปฏิบัติต่อมาภายหลัง ซึ่งเกิดในหมู่บุคคลผู้มีฐานะสูงในสังคมแต่อดีต ที่เมื่อปฏิบัติภารกิจในช่วงกลางวันแล้ว ยังมีงานบางอย่างที่ต้องทำต่อในตอนกลางคืน ครั้นถึงเวลาครึ่งคืนพอเสร็จงานหรือพักก็มักหิวพอดี จึงต้องกินของว่างแก้หิว นอกจากนี้ ยังมีคติการกินของว่างระหว่างพักดูการแสดงในตอนกลางคืนด้วย โดยเริ่มแรกเกิดขึ้นในราชสำนักก่อน ภายหลังจึงมีการแพร่หลายออกมาสู่สังคมภายนอก นัยว่ารับเอามาจากธรรมเนียมชาวตะวันตกที่เข้าชมการแสดงอุปรากร และมีการพักครึ่งเวลา เพื่อให้ผู้ชมได้เปลี่ยนอิริยาบถ ดื่มน้ำชากาแฟ หรือสูบบุหรี่ตามอัชฌาสัย จึงเกิดเป็นคตินิยมแพร่หลายในหมู่ผู้มีอันจะกินในสังคมสมัยนั้น
ของว่างหรืออาหารว่าง อาจแบ่งตามรสชาติได้ ๒ ชนิด คือ
๑.อาหารว่างคาว เช่น ปลาแนม ไส้กรอก ขนมจีบ สาคูไส้ต่างๆ ซาลาเปา เป็นต้น
๒.อาหารว่างหวาน เช่น ขนมทองพลุ ขนมน้ำดอกไม้ คุ้กกี้ เค้กต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทตามการปรุงได้อีก เช่น ประเภทของนึ่ง ได้แก่ ข้าวเกรียบปากหม้อ ช่อม่วง ประเภทของต้ม ได้แก่ กระเพาะปลา เกี๊ยวกุ้งน้ำ ประเภทของทอด ได้แก่ ปอเปี๊ยะทอด บาเยีย ประเภทของปิ้ง ได้แก่ หมูสะเต๊ะ ไส้กรอกหมู ประเภทของคลุก ได้แก่ ยำส้มโอ หมี่กระทิ และประเภทเบ็ดเตล็ด คือปรุงให้สุกด้วยวิธีต่างๆ แล้วนำมากินเข้าด้วยกัน เช่น ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมจุ๊ยก้วย เป็นต้น
ของว่างหรืออาหารว่างในอดีต เป็นของกินแก้หิวหลังเวลาทำงานในตอนกลางคืน หรือทำไว้กินรองท้องก่อนจะถึงอาหารมื้อเย็น บ้างก็กินตอนดึกหลังชมมหรสพ แต่ในปัจจุบันของว่างได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับกิจกรรมต่างๆในสังคม โดยเฉพาะในการจัดการประชุม การสัมมนา หรือการฝึกอบรม ที่เราเรียกว่า "เบรค” (Break-หยุดพัก) ซึ่งก็คือ การหยุดพักให้กินของว่างระหว่างกิจกรรมเพื่อให้ผู้ร่วมการประชุมนั้นๆได้มีโอกาสสังสรรค์ ซักถาม ปรึกษาหารือ หรือเสนอความคิดเห็นนอกรอบ รวมถึงการสร้างบรรยากาศความเข้าใจ และความร่วมมือในกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อในช่วงเวลาถัดไป
สำหรับของว่างหรืออาหารว่างสมัยนี้ค่อนข้างจัดกันอย่างหลากหลาย บ้างก็เป็นอาหารว่างแบบไทย บ้างก็เป็นแบบจีนหรือฝรั่ง หรือไม่ก็ผสมผสานกันไป แล้วแต่ความชอบหรือความเหมาะสม ช่วงเวลาที่นิยมกินอาหารว่างเช้า จะอยู่ประมาณ ๑๐.๐๐-๑๑.๓๐ น. ถือเป็นช่วงอาหารเช้าถูกย่อยไปแล้ว หรือบางคนยังไม่ได้กินข้าวเช้ามา อาหารว่างมื้อนี้ก็จะช่วยประทังความหิวก่อนมื้อกลางวัน อาหารว่างบ่าย มักจัดระหว่างเวลา ๑๕.๓๐-๑๗.๐๐ น. เพื่อช่วยเปลี่ยนอิริยาบถ และคลายเครียดในการทำงาน หรือลดความหิวก่อนมื้อเย็น ส่วนอาหารว่างก่อนนอน นิยมจัดในช่วง ๒๒.๐๐-๒๔.๐๐ น. สำหรับคนที่กินมื้อเย็นน้อย ทำงานดึกแล้วหิว แต่ควรจัดเป็นอาหารที่ไม่หนักท้องเกินไป เพื่อให้ย่อยง่าย และหลับสบาย
ประโยชน์ของ "ของว่าง” หรือ "อาหารว่าง” มีหลายประการ ได้แก่
๑.ช่วยประทังความหิว โดยเป็นอาหารคั่นระหว่างมื้อ ไม่ว่าก่อนหรือหลังมื้อหลัก เช่น ช่วงบ่ายก่อนถึงมื้อเย็น หรือหลังชมมหรสพ
๒.ช่วยสร้างบรรยากาศในการประชุมสัมมนา การฝึกอบรม หรือการเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกัน และทำความรู้จักกันมากขึ้น
๓.ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากการกินอาหารมื้อหลัก โดยเฉพาะเราสามารถเลือกกินอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นได้
สำหรับโทษของของว่างหรืออาหารว่าง น่าจะมี ๒ ประการ คือ
๑.ทำให้อ้วน เพราะกินมากหรือถี่เกินไป
๒.ทำให้เกิดโรคต่างๆ ในกรณีที่กินสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น กินหวานมาก ทำให้เป็นโรคเบาหวาน
.....................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม