กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน “พิธีทำบุญต่ออายุ”

วันที่ 4 มิ.ย. 2564
 

     ในการทำบุญต่ออายุด้วยการบูชาดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ และ เกตุ เชื่อว่าเพื่อให้อายุที่สืบต่อไปนั้นเป็นมงคล มีสุขภาพดี วัตถุประสงค์ทั่วไปในการสืบชาตาก็เพื่อสร้างสิริมงคล ให้มีความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อความยั่งยืนของบ้านเมืองรวมถึงบุคคล
 
     ความเชื่อเรื่องการสืบชาตา มีปรากฏในคัมภีร์อานิสงส์สืบชาตาซึ่งได้บรรยายเรื่องราวถึง เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลมีสามเณร ชื่อ ติสสะ ได้รับคำทำนายจากพระสารีบุตรว่า จะต้องเสียชีวิตภายใน ๗ วัน แต่สามเณรรูปนี้ได้ประกอบกุศลกรรมคือ ปล่อยอีเก้งให้พ้นจากความตาย กรรมดีที่ทำนี้จึงส่งผลต่ออายุให้ยืนยาวได้ จึงเป็นความเชื่อสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
 
     โดยการสืบชาตาของชาวล้านนาสามารถแบ่งกว้างๆ ได้ ๒ ประเภท คือ "สืบชาตาหลวง” เป็นการกระทำเพื่อคนหมู่มาก เป็นครอบครัว เป็นของสาธารณะ เช่น สืบชาตาบ้าน สืบชาตาเมือง และ "สืบชาตาชีวิต” หรือชาตาปี เป็นการกระทำเพื่อตนเอง เพื่อคนๆ เดียว ให้อายุตนยืนยาว เป็นสิริมงคลเฉพาะตน พิธีสืบชาตาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันในภาคเหนือ พิธีสืบชาตาสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีได้ ๓ ประเภท คือ
 
     ๑. สืบชาตาคน บุคคลใดก็ตามที่บังเกิดเหตุในทางไม่ดี ทั้งทุกข์ทางกายหรือทางใจ ทุกข์ทางกาย เช่น ทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ มีเหตุให้ต้องเสียทรัพย์ เกิดถ้อยความถึงขึ้นโรงขึ้นศาล ชีวิตมีแต่เรื่องเลวร้าย ทุกข์ทางใจ
 
     ๒. สืบชาตาบ้าน คนโบราณ จัดขึ้นเพื่อต่ออายุหมู่บ้าน เมื่อพบว่ามีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน
 
     ๓. สืบชาตาเมือง ชาวล้านนามีความเชื่อว่าเมื่อมีการตั้งเมืองจะมีดวงชะตาที่เรียกว่า ดวงชะตาเมือง การสืบชาตาเมืองจะจัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองประสบความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวนพเคราะห์ส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวายจากเหตุการณ์ต่างๆ
 
     ในปัจจุบัน พิธีสืบชาตามีการประยุกต์ที่หลากหลาย ด้วยความสัมพันธ์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง จึงมีการประยุกต์องค์ประกอบของพิธีกรรมในหลายระดับ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านการจัดเตรียมเครื่องบูชา ด้านผู้เข้าร่วมลดน้อยลงแต่ส่งปัจจัยมาเข้าร่วม การเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกายในการเข้าร่วมพิธีจากเครื่องแต่งกายประจำถิ่นคือนุ่งผ้าซิ่นเสื้อแบบพื้นเมือง ก็มีการนุ่งห่มแบบสากลเพิ่มขึ้น ด้านผู้ประกอบพิธี ในอดีตผู้ประกอบพิธีสืบจากอาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ ต่อมาก็นิมนต์พระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือมาเป็นประธาน ด้านความเชื่อเคยเชื่ออย่างเคร่งครัดคนรุ่นใหม่มีความเชื่อลดน้อยลง ส่งผลให้การสืบชาตาพบได้น้อยลง แต่การสืบชาตาเมืองได้รับการเสริมมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเพื่อสืบสานและอนุรักษ์ไม่ให้การสืบชาตาสูญหายไปจากสังคมล้านนา
 
     "พิธีทำบุญต่ออายุ” นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในสาขา แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาลต่างๆ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕
 
 
ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ich.culture.go.th
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)