
เดือน ๗ ของทุกปี หลายท้องถิ่นในภาคอีสาน จะประกอบพิธีกรรมบุญซำฮะ หรือชำระล้าง ขับไล่สิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคลต่างๆ ให้ออกไปจากบ้านเรือนหรือหมู่บ้านของตนเอง ในบางที่เรียกว่า ประเพณีบุญเบิกฟ้า บางท้องถิ่นเรียก บุญเบิกบ้าน บุญกลางบ้าน ซึ่งจะประกอบพิธีกรรมทั้งในทางพุทธและไสยศาสตร์ ในวันทําบุญ ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนําดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ ขันใส่กรวดทรายและเฝ้าผูกแขนมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีศาลากลางบ้าน ชาวบ้านจะช่วยกันทำปะรําพิธีขึ้นกลางหมู่บ้าน ตกตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดชัยมงคลคาถา (ชาวอีสานเรียกว่า ตั้งมุงคุณ)
ในเช้าวันรุ่งขึ้นจะพากันทําบุญตักบาตรเลี้ยงพระถวายจังหัน เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและประพรมน้ำพุทธมนต์ให้แก่ทุกคนที่มาร่วมทําบุญ จากนั้นชาวบ้านจะนําขันน้ำมนต์ ด้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเองแล้วนําน้ำมนต์ไปประพรมให้แก่ทุกคนในครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือนและวัวควาย เอาด้ายผูกแขนลูกหลานทุกคน เพราะเชื่อว่าจะนําความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน ส่วนกรวดทรายก็จะเอามาหว่านรอบ ๆ บริเวณบ้านและที่สวนที่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและสิ่งอัปมงคลให้พ้นไป
ที่มาของประเพณีนิยมทำในเดือน ๗ หรือ ฮีตเดือนเจ็ด ของชาวอีสาน นี้ มาจากเรื่องราวครั้งพุทธกาล ในพระธรรมบทที่ว่า ครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยาก หมากแพง เพราะเกิดฝนแล้ง สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ล้มตายเพราะอดอยาก เกิดโรคห่าระบาด (โรคอหิวาตกโรค) ทำให้ผู้คนล้มตายและสิ้นหวัง ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งจึงพากันไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาปัดเป่าเภทภัย พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้เดินทางมาทางเรือใช้เวลาเดินทาง ๗ วัน จึงถึงเมืองไพสาลี เมื่อเสด็จมาถึงก็เกิดฝน "ห่าแก้ว” ตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำฝนท่วมแผ่นดินสูงถึงหัวเข่า และน้ำนี้ได้พัดพาเอาซากศพของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ ไหลลอยลงแม่น้ำไปจนหมดสิ้น พระพุทธเจ้าทำน้ำมนต์ใส่บาตรให้พระอานนท์ นำน้ำมนต์ไปสาดทั่วพระนคร โรคร้าย ไข้เจ็บ ก็สูญสิ้นไปด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพระพุทธมนต์ ดังนี้ คนไทยอีสานจึงถือเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือนเจ็ดจะพากันทำบุญซำฮะ เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย และขจัดอัปมงคลออกจากหมู่บ้าน

ซำฮะ หมายถึง ชำระ คือ การทำให้สะอาด ปราศจากสิ่งอัปมงคล การทำให้สะอาดนี้มีอยู่ ๒ ระดับขั้น คือ ๑.การชำระความสกปรกภายนอก ได้แก่ การทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ขจัดสิ่งสกปรกรกรุงรังออกไป ถือเป็นการชำระสิ่งที่มองเห็นด้วยตา ขั้นที่ ๒.การชำระความสกปรกภายใน อันได้แก่ ความคิด จิตใจของตนที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลง และความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ การทำความสะอาดจิตใจให้ใสสะอาดได้ เชื่อว่าจะป้องกันอัปมงคล ป้องกันเสนียดจัญไรได้เป็นอย่างดี

งานประเพณี "บุญซำฮะ” จังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี ๒๕๖๑ (ภาพจากเว็บ 77 ข่าวเด็ด)
ในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย โควิด – ๑๙ ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด การทำบุญซำฮะ ถือเป็นประเพณีที่ร่วมสมัย โดยสามารถนำแก่นของประเพณีมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่รุนแรงให้เบาบางลง หรือจะใช้เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคร้ายก็เป็นไปได้ ถ้าทุกคนใช้ชีวิตด้วยความมีสติ ไม่ประมาท รักษาความสะอาด ชำระล้างสิ่งสกปรกภายนอกทุกครั้ง พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็จะนำพาให้สถานการณ์ต่าง ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ตามลำดับ
อ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (๒๕๖๒). ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสาน