กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นเช่นไร”

วันที่ 24 พ.ค. 2564
 

 
     "ปางมารวิชัย” เป็นพระพุทธรูปที่เรามักพบเห็นกันบ่อยที่สุด หลายคนอาจจะรู้จักดี แต่เชื่อว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้เห็นแต่ไม่ทราบว่าพระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ปางมารวิชัย”ดังนั้น จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับความเป็นมาของปางดังกล่าว
 
     พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา (ขาหรือตัก) ส่วนพระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ขวาชี้ลงที่พื้นธรณี ปางนี้เรียกกันอีกชื่อว่า "ปางชนะมาร” คำว่า วิชัย แปลว่า ชัยชนะ
 
     ตามประวัติเล่าว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์หรือเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้นั้น ได้นั่งบนหญ้าคาที่โสตถิยะพราหมณ์ถวายที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ ทรงได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า "ถ้าเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจักไม่ยอมลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที” จากนั้นได้ประทับนิ่งและเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต ขณะนั้นเป็นเวลาพระอาทิตย์ตกดิน พญามารที่ชื่อว่า "วสวัสตี” ที่คอยขัดขวางการกระทำความดีของพระโพธิสัตว์มาโดยตลอด เมื่อทราบถึงพระดำริปณิธานนั้น ก็เกิดความหวั่นเกรงว่า หากปล่อยให้บรรลุความสำเร็จตามที่ตั้งสัตย์อธิษฐานแล้ว พระองค์ก็จะพ้นอำนาจของตนไป จึงได้ระดมพลเสนามารทั้งหลายมาทำการก่อกวนด้วยวิธีต่างๆนานาเพื่อให้พระองค์เกิดความเกรงกลัวและตกใจหนีไป เช่น บันดาลให้เกิดพายุพัดรุนแรง เกิดฝนตกหนัก บันดาลอาวุธต่างๆยิงตกต้องพระองค์ ฯลฯ แต่กระนั้นพระองค์หาได้หวั่นเกรงไม่ กลับทรงตั้งจิตมั่นระลึกถึงบุญบารมีต่างๆที่เคยทรงบำเพ็ญมา โดยไม่หวาดกลัวต่ออำนาจทำลายล้างของเหล่ามารที่มาผจญ ยิ่งกว่านั้นบรรดาศรัตราวุธที่ส่งมาทำร้าย ล้วนกลับกลายเป็นบุปผามาลัยบูชาพระองค์ไปสิ้นเมื่อเห็นดังนั้น พญามารจึงใช้วิธีใหม่ โดยกล่าวว่า บัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่นั้น เป็นบัลลังก์ที่เกิดด้วยบุญบารมีของตน หาใช่ของพระสิทธัตถะไม่ ทั้งนี้ ได้อ้างเหล่าเสนามารทั้งหลายเป็นพยาน พระสิทธัตถะก็โต้กลับพญามารว่า บังลังก์ที่ทรงประทับนี้เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญมานานจนนับประมาณมิได้ พระองค์จึงมีสิทธิ์นั่งโดยชอบธรรม พญามารไม่ยินยอม กล่าวคัดค้านและถามหาพยานของพระองค์ พระสิทธัตถะจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาชี้ลงไปที่พระแม่ธรณี และขอให้ทรงเป็นพยานถึงการบำเพ็ญกุศลของพระองค์ในกาลก่อนขณะนั้นพระแม่ธรณีที่ชื่อว่า "วสุนธรา” ก็ได้มาปรากฏองค์แสดงอภิวาทต่อพระมหาบุรุษและได้ประกาศยืนยันต่อพญามารว่า พระมหาบุรุษเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญบุญมามากมายสุดจะประมาณได้ แค่น้ำที่หลั่งทักษิโณทกลงบนมวยผมของพระนาง ก็เหลือจะคณานับ ว่าแล้วก็ปล่อยมวยผม บีบน้ำที่พระมหาบุรุษกรวดสะสมไว้นับแต่อดีตเป็นเอนกชาติหลั่งออกมาเป็นกระแสน้ำไหล่บ่ามาอย่างแรง จนพัดพาพญามารและเหล่าเสนามารลอยไปไกลจนสุดขอบฟ้า พญามารต้องตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ และยอมรับความพ่ายแพ้ในที่สุด เมื่อกำจัดเหล่ามารไปสิ้นแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยเจริญภาวนาสมาธิบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป จนตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนั้น ก็คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชานั่นเอง
 
     ดังนั้น ด้วยพระอิริยาบถที่ทรงชี้พระหัตถ์ขวาลงไปที่พระแม่ธรณี เพื่อขอให้เป็นพยานในบุญบารมีที่พระองค์ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับอนันตชาติ จนพระแม่ธรณีได้บีบมวยผมหลั่งน้ำที่ทรงกรวดอุทิศที่มีจำนวนมากมายมหาศาลไหลท่วมท้นเหล่ามารจนแพ้ไปนั้น จึงได้กลายมาเป็นลักษณะของพระพุทธรูป "ปางมารวิชัย” หรือ "ปางชนะมาร” อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้ มักจะสร้างเป็นพระประธานในโบสถ์ หรือเป็นพระพุทธรูปสำคัญทั้งนี้คงเป็นเพราะการชนะมารดังกล่าว ก็คือ การชนะกิเลส ทำให้หลุดพ้น หรือชนะอุปสรรคต่างๆนั่นเอง
 
     สำหรับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เราส่วนใหญ่เคยเห็น เช่น พระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระสุวรรณเขตและพระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานคู่ในวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กทม. พระพุทธสิหิงค์ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์ ที่หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส่วนพระพุทธสิหิงค์ในกรุงเทพฯจะเป็นปางสมาธิ ประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์)และ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น
 
 ........................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ และ เกศแก้ว ศิริวัฒน์
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)