กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "ตำนานพระพุทธสิหิงค์”

วันที่ 14 พ.ค. 2564
 

     ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หรือ สิหิงคนิทาน เป็นตำนานที่อธิบายประวัติการสร้างและการประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญองค์หนึ่งของประเทศไทย พระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ ได้เขียนตำนานเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์เป็นภาษาบาลีเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๖๐ และบรรยายเรื่องราวมาจนถึง พ.ศ. ๑๙๕๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ต่อจากพระโพธิรังษี ฉบับปัจจุบันหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ เป็นตำนานย่อและมีข้อวิจารณ์ทางโบราณคดีเพิ่มเติมสืบมา
 

พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
 
      พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลังกา ตามตำนานเล่าว่า พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อราว พ.ศ. ๗๐๐ และได้อัญเชิญเข้ามาสู่สยามประเทศ ประมาณ พ.ศ. ๑๘๕๐ โดยในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งราชอาณาจักรตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้ไปประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา เป็นเวลานานถึง ๑๐๕ ปี
 
     คราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวเชียงใหม่จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทอัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘ โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร พระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
 

พระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
 
     คนไทยเชื่อว่า เมื่อพระพุทธสิหิงค์ประทับอยู่ ณ ที่ใด จะทำให้พระพุทธศาสนาที่นั้นเจริญรุ่งเรือง ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่ง ที่ว่า การสร้างพระพุทธสิหิงค์ ได้ประกอบขึ้นด้วยแรงอธิษฐาน ๓ ประการคือ ๑. คำอธิษฐานของพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี ๒. แรงอธิษฐานของพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง ๓. อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     "การที่พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ที่ใด จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองดังดวงประทีป เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่"
 
     ปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ๓ สถานที่ คือ องค์แรกอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร องค์ที่สอง ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และ องค์ที่สามประดิษฐาน ณ หอพระสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์ ณ หอพระสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
 


พระพุทธสิหิงค์ ณ หอพระสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 
     คนไทยถือว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นเมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองออกมาให้ประชาชนได้สรงนํ้า สักการบูชา และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาศขึ้นปีใหม่ไทย
 
     ตำนานพระพุทธสิหิงค์ เป็นตำนานสืบเนื่องเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา จัดอยู่ในประเภทประวัติศาสตร์บอกเล่า ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่พุทธศาสนิกชนควรเรียนรู้และสืบสานต่อไป
 
ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (ich.culture.go.th)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)