กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เล่าเรื่องผ้าที่นิยมใช้ในราชสำนักสยามเมื่อครั้งอดีต

วันที่ 11 พ.ค. 2564
 

     เนื่องจากสยามประเทศ ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ภูมิอากาศร้อนชื้น ทำให้การแต่งกายจากอดีตใช้เสื้อผ้าที่เรียกว่า "เครื่องนุ่งห่ม” คือท่อนบนห่ม และท่อนล่างนุ่งเท่านั้น โดยรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบนแบบอินเดีย และกางเกงขากว้างแบบจีนมาผสมกัน เรียกว่านุ่งสนับเพลาและโจงกระเบน ส่วนฝ่ายหญิงจะดัดแปลงการนุ่งห่มผ้าสาหรี่ของอินเดีย นำมาแยกเป็นท่อนบนห่มสไบและท่อนล่างนุ่งจีบหน้านางแทนในอดีตชนชั้นชาวบ้านและเจ้านายจะแต่งกายรูปแบบเดียวกันจนแยกไม่ออก จนถึงราวปีพุทธศักราช ๑๙๑๐ กรุงศรีอยุธยารุกรานกัมพูชา จึงได้นำข้อปฏิบัติของราชสำนักเขมรเข้ามาใช้ นั่นคือกษัตริย์คือองค์สมมุติเทพที่จุติมายังโลกมนุษย์ ตั้งแต่นั้นมาเครื่องแต่งกายของชนชั้นต่างๆ จึงมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามฐานันดรศักดิ์ และมีการสั่งซื้อผ้าลวดลายแปลกๆ มาจากประเทศต่างๆในหลายๆ ทวีป อาทิ ผ้าจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย และยุโรป นำเข้ามาใช้กับ รูปแบบการแต่งกายของไทยได้อย่างงดงามและเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันต่อมาประเภทของผ้าในราชสำนัก แบ่งประเภทได้ดังนี้
 
     ๑. ผ้าปัก ผ้าปักไหม ใช้ผ้าไหมพื้นปักด้วยไหมหรือดิ้นเงินดิ้นทองปักลวดลายดอกไม้และอื่นๆ ใช้สำหรับ นุ่ง – ห่ม หรือห่อเครื่องทรง
 
     ๒. ผ้าสมรต ใช้ผ้ากรองทองโปร่งบางสำหรับสวมคลุมใส่ ในพิธีงานพระเมรุ หรือ หมายถึงผ้าคาดเอวตาดทอง ปักดิ้น หรือปีกแมลงทับ
 
     ๓. ผ้ายก การยกคือการเชิดเส้นไหมหรือฝ้ายขึ้น แล้วพุ่งกระสวยไประหว่างกลาง ให้เกิดเป็นลวดลาย มักมีลายเป็นกรวยเชิง หรืออื่นๆ จะเน้นด้วยไหม หรือแล่งทองถ้าเป็นของเจ้านายเรียกว่า "ผ้าทรง” เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือประณีตอย่างสูง
 
     ๔. ผ้าเยียรบับ ทอด้วยผ้าไหมสีควบกับไหมเงินหรือทองใช้เส้นทองมากกว่าไหมพื้นนับเป็นผ้าที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นผ้าทรง และตัดเป็นฉลองพระองค์
 
     ๕. ผ้าเข้มขาบ ทอด้วยไหมทองเอาเงินแผ่บางกะไหล่ทองแล้วทอเป็นผ้ายกลายทั้งผืน ไหมพื้นกับเส้นทอง ขนาดเท่ากัน ภาษาเปอร์เซียเรียกว่า Kimkhabแปลว่าผ้าทอง
 
     ๖. ผ้าอัตลัต ภาษามาลายูแปลว่า แพรต่วน นิยมทอด้วยดิ้นทองยกเป็นลายห่างๆ เป็นช่วงๆไปตลอดผืน มักทำเป็นลายพฤกษา หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวอินเดียถือเป็นต้นไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์
 
     ๗. ผ้าตาด ทอด้วยทองแล่งกับไหมสีถ้าไม่มีลวดลายใดๆ เรียก "ตาดทอง” ถ้ามีลายดอกสี่เหลี่ยม เรียกว่า "ตาดตาตั๊กแตน” ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีตาดเงิน ตาดระกำไหม ซึ่งมีเนื้อไหมมากกว่าดิ้น นิยมนำมาปักลาย แล้วใช้เป็นผ้าทรงสะพัก หรือฉลองพระองค์
 
     ๘. ผ้าโหมด ผ้าที่ใช้กระดาษทอง ตัดเป็นเส้นเหมือนทองแล่ง แล้วทอกับไหมภายหลังใช้กระดาษพันเส้นไหม แล้วนำมาทอ มีหลายชนิดเช่น โหมดญี่ปุ่น และโหมดรัสเซีย เป็นต้น
 
     ๙. ผ้ากรองทอง เป็นผ้าถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทองทั้งผืน นิยมนำมาทำเป็นผ้าทรงสะพักห่ม ทับผ้าสไบอีกทีหนึ่ง
 
     ๑๐. ผ้าสุจหนี่ เป็นผ้าปูอาสนะพระหรือที่นอน ทอด้วยขนสัตว์หรือไหมปักลวดลายตามขอบด้วยดิ้นทอง หรือเงิน
 
     ๑๑. ผ้าแพร ส่วนมากมาจากประเทศจีน มีหลายชนิดทั้งเรียบและมีดอก เดิมใช้เฉพาะขุนนางต่อมาใช้เป็น ผ้าพระราชทานบำเหน็จแก่ข้าราชบริพารทั่วไป
 
     ๑๒. ผ้าม่วง เป็นผ้าแพรไหมเนื้อละเอียด จีนเรียกว่า "หม่วง” ใช้เป็นโจงกระเบน และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงให้ยกเลิกการใช้ผ้าปูมสมปักจากเขมร มาใช้ผ้าม่วงเป็นชุดข้าราชการแทน
 
     ๑๓. ผ้าหนามขนุน เป็นผ้ามัดย้อมจากอินเดีย มีลายปมเหมือนหนามขนุน ใช้เป็นผ้าคาดเอวขุนนาง
 
     ๑๔. ผ้าสมปักปูม เป็นผ้าไหมมัดหมี่ มีลวดลายงดงาม นิยมออกสีโทนแดง เชิงผ้ามักทำเป็นลายกรวยเชิง ซึ่ง จำนวนและลวดลายจะแสดงฐานะของผู้สวมใส่ คำว่า สมปักในภาษาเขมรหมายถึง ผู้ชาย คำว่าปูม หมายถึง ลวดลาย ผ้าชนิดนี้ใช้พระราชทานแก่ขุนนางตามตำแหน่งเพื่อใช้เป็นเครื่องแบบ ชนิด ที่ดีที่สุดเรียกว่า "สมปักล่องจวน” ซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นพิเศษ
 
     ๑๕. ผ้าลายอย่าง เป็นผ้าชั้นสูงของราชสำนักไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับพระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ชั้นสูง สมัยรัตนโกสินทร์ เรียกว่า "ผ้าเขียนลายทอง” เป็นผ้าที่ราชสำนักออกแบบลาย แล้วส่งไปเขียนหรือพิมพ์ ที่ประเทศอินเดีย โดยใช้ผ้าขาวพื้นทอมาจากเมืองแมนเชสเตอร์ ในประเทศอังกฤษ ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด คงใช้ในราชสำนักเท่านั้น
 
     ๑๖. ผ้าสุหรัด เป็นผ้าที่ผลิตจากเมืองสุหรัด ประเทศอินเดีย เป็นผ้าพื้นบ้านพิมพ์ลายด้วยมือโดยแม่พิมพ์ไม้ แต้มสีและใช้หอยเบี้ยขัดให้เกิดเงา มีรูปแบบลวดลายอันหลากหลาย
 
     ๑๗.ผ้าเขียนทอง เป็นผ้าพิมพ์ลายอย่างดีแล้วเขียนเส้นทองเพิ่มเติมเข้าไปกำหนดให้ได้เฉพาะระดับพระมหากษัตริย์จนถึงพระองค์เจ้าเท่านั้น
 
     ๑๘. ผ้าลายนอกอย่าง เป็นผ้าที่ทำเลียนแบบผ้าลายอย่าง แต่พิมพ์ลงบนผ้าฝ้าย จากอินเดียเนื้อหยาบ และฝีมือไม่ประณีตนัก จึงนำมาใช้กับสามัญชนได้โดยหลีกเลี่ยง กฎห้ามของราชสำนัก
 
     ๑๙. ผ้าขนสัตว์ ส่วนใหญ่สั่งมาจากอินเดีย เป็นผ้าที่ทอ ที่มีส่วนผสมของขนสัตว์ ที่นิยมใช้แพร่หลาย ได้แก่ผ้ากำมะหยี่ และผ้าสักหลาด เป็นต้นใช้สำหรับทำฉลองพระองค์สำหรับออกงานหรือใช้ในช่วงฤดูหนาว
 
     การแต่งกายในราชสำนักสยาม คงรูปแบบจากอดีตมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยการนุ่งและห่มจนเมื่อมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศจึงมีการนำเสื้อ,กางเกงและโจงกระเบน รวมถึงเสื้อคลุมรูปแบบของชาวต่างชาติมาใช้ อาทิจาก ยุโรป จีน อินเดีย และเปอร์เซีย เป็นต้น
 
......................................................................
 
ขอขอบคุณที่มา:http://wesmilemagazine.com/the-thai-royal-court-couture/
ภาพ : หนังสือผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระaมหากษัตริย์สยามสำนักพิมพ์มติชน (https://joom.ag/zoha)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)