
สมัยเด็กๆ เชื่อว่าหลายคน คงเคยได้เรียนเรื่อง "โคนันทิวิสาล” อันเป็นนิทานที่เล่าถึงวัวหนุ่มตัวหนึ่งที่มีพละกำลังมหาศาลและมีความกตัญญูต่อผู้เลี้ยงดู แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องคือ การสอนให้เรารู้จักพูดดีๆ ต่อผู้อื่น และในปัจจุบัน เมื่อใครก็ตามพูดจาจิกใช้คนอื่น เราก็มักจะได้ยินคำโต้ตอบว่า ให้พูดให้ไพเราะหน่อย มิเช่นนั้นจะไม่ทำงานให้ เพราะเขาก็เหมือนโคนันทิวิสาลที่ชอบคำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เรื่องราวของโคหนุ่มตัวนี้เป็น เช่นไร เรามาเล่าสู่กันฟัง
โคนันทิวิสาล หรือที่มักเรียกกันว่า "โคนันทวิศาล” เป็นหนึ่งในนิทานชาดก ซึ่งเป็นชีวประวัติของพระโคตมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีต่างๆ ในอดีตชาติ บางชาติทรงเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง ครั้นทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าพระสงฆ์ฟังในโอกาสต่างๆ เพื่อแสดงหลักธรรมที่ทรงประสงค์ และเรียกเรื่องในอดีตนี้ว่า "ชาดก” และเพราะชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก
สำหรับเรื่อง "โคนันทิวิสาล” นี้เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีภิกษู ๖ รูป เรียกว่า พระฉัพพัคคีย์ เป็นกลุ่มพระที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ชอบก่อกวนหาเรื่องทะเลาะวิวาท และพูดจาข่มขู่เสียดสีพระภิกษุรูปอื่นอยู่เสมอ จนความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงได้กล่าวตำหนิพร้อมให้โอวาทว่า "ผู้กล่าววาจาหยาบคาย ย่อมนำความฉิบหายมาให้ตนเอง เพราะเขาย่อมไม่เป็นที่พอใจของใครๆ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ตาม” ว่าแล้วพระองค์ก็ทรงนำเรื่อง "นันทิวิสาลชาดก” มาตรัสเล่าเป็นอุทาหรณ์
พระองค์ทรงเล่าว่า พระโพธิสัตว์เคยเกิดเป็นโคชื่อ "นันทิวิศาล” อาศัยอยู่กับพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเลี้ยงดูและรักโคนันทิวิสาลดังลูกของตน เมื่อนันทิวิสาลเติบโตขึ้น ก็เป็นวัวหนุ่มที่แข็งแรง และมีกำลังวังชาอย่างมาก มันจึงอยากจะตอบแทนพระคุณพราหมณ์ที่เลี้ยงมันแต่เล็กจนโตให้พ้นจากความยากจน วันหนึ่งนันทิวิสาลจึงได้บอกให้พราหมณ์ไปท้าพนันกับวินทกเศรษฐีด้วยเงินเดิมพัน ๑,๐๐๐ กหาปณะ โดยว่าตนมีโคที่มีพลังพิเศษสามารถลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่บรรทุกกรวด ทราย ก้อนหิน ผูกติดกันทั้งร้อยเล่มเกวียนให้เคลื่อนที่ไปได้ด้วยวัวนั้นเพียงตัวเดียว เศรษฐีไม่เชื่อและรับคำท้า เมื่อถึงวันนัด พราหมณ์ก็ได้นำนันทิวิสาลเทียมแอกที่เกวียนเล่มแรก ส่วนตนก็ขึ้นไปนั่งบนแอก ยกปฏักขึ้นพร้อมตวาดด้วยคำหยาบว่า "เฮ้ย เจ้าโคขี้โกง โคถ่อย โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้เลย” โคนันทิวิสาลได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกน้อยใจเสียใจว่าพราหมณ์ทำไมเรียกตนเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ตนไม่เคยประพฤติดังกล่าวเลย มันจึงยืนเฉยเสีย พราหมณ์จึงแพ้พนันเศรษฐี ต้องนำทรัพย์หนึ่งพันมาให้ เมื่อกลับถึงบ้านพราหมณ์ก็นอนเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ โคนันทิวิสาลเห็นดังนั้นจึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี้ ท่านได้เลี้ยงดูเราเป็นอย่างดี และเราก็ไม่เคยกระทำความเดือดร้อนรำคาญใดๆแก่ท่าน ไฉนท่านจึงกล่าวหาว่าเราเป็นผู้โกง ผู้โง่ไปได้ เอาเถอะ ท่านจงไปท้าพนันกับเศรษฐีอีกครั้งและให้เพิ่มเงินเดิมพันเป็น ๒,๐๐๐ กหาปณะ และขออย่าเรียกเราว่าโคโกงโคโง่อีกเลย พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็ได้คิด แล้วจึงไปท้าพนันกับเศรษฐีใหม่อีกครั้งตามคำบอกของนันทิวิสาล เมื่อถึงเวลาก็ผูกเกวียนร้อยเล่มที่บรรทุกกรวด หิน ทรายเช่นเดิมให้ติดกันเป็นเล่มเดียว จากนั้นจึงขึ้นไปนั่งที่แอก แล้วลูบหลังนันทิวิสาลพร้อมกล่าวว่า "พ่อมหาจำเริญ ขอให้พ่อจงช่วยลากเกวียนไปด้วยเถอะนะ”โคนันทิวิสาลได้ฟังคำก็เกิดกำลังใจ สามารถลากเกวียนร้อยเล่มไปด้วยกำลังแรงเพียงครั้งเดียว เกวียนเล่มสุดท้ายก็เคลื่อนไปยังที่ตั้งเกวียนเล่มแรกได้สำเร็จ ทำให้พราหมณ์ชนะพนัน ได้คืนทั้งเงินเดิมและเงินใหม่ นอกจากนี้ยังได้ทรัพย์จากมหาชนที่มาชมและมอบทรัพย์ให้กับนันทิวิสาล-วัวกตัญญูอีกด้วย พราหมณ์จึงมีเงินเลี้ยงตน ไม่ต้องลำบากตอนแก่เฒ่า พระพุทธองค์เมื่อเล่าจบก็ทรงตรัสสอนว่า "ไม่ว่าเวลาใด บุคคลควรกล่าวแต่คำที่น่าพอใจ อย่ากล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นที่น่าพอใจเป็นอันขาด เพราะเมื่อพราหมณ์กล่าวถ้อยคำเป็นที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลก็ได้ฉุดลากเกวียนอันหนักไปได้ ทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์นับพัน ส่วนตัวโคนันทิวิสาลเองก็เกิดความโสมนัสปลาบปลี้มที่ได้ช่วยเหลือพราหมณ์นั้น" พระองค์ได้ตรัสต่ออีกว่า ตัวโคนันทิวิสาลก็คือ พระองค์ในอดีตชาติ ส่วนพราหมณ์นั้นคือ พระอานนท์ในชาติปัจจุบัน
อ่านแล้ว บางคนอาจสงสัยว่า การพูดเพราะ พูดดี จะสามารถทำให้เกิดพลัง หรือกำลังเพิ่มขึ้นได้จริงหรือ ก็จะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากมีเพื่อนมาทักว่า วันนี้เราแต่งตัวสวย หน้าตาสดใส เพียงแค่นี้ ก็เชื่อว่า เราจะเกิดความรู้สึกมั่นใจ มีกำลังใจ ไปติดต่อกับใคร ก็จะอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสไปทั้งวัน ทำให้งานราบรื่น แต่ถ้าวันไหนถูกทักว่า เสื้อตัวนี้ใส่แล้วเชย หรือวันนี้ทำไมดูหน้าแก่ เชื่อเลยว่า เราจะเกิดความรู้สึกห่อเหี่ยว กังวลใจไปทั้งวัน จะเห็นได้ว่าแค่คำพูดธรรมดาๆ ที่ยังมิใช่คำหยาบ แต่เป็นคำที่ไม่น่าพึงพอใจ ก็ยังทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกด้านลบได้ ดังนั้น ในนิทานชาดกเรื่องนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่สัตว์เดรัจฉายก็ยังชอบฟังคำพูดที่ไพเราะเสนาะหู คนเราจึงควรเลือกพูดดี พูดไพเราะ หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นถ้อยคำสุภาพ ไม่พูดคำที่ระคายหูต่อผู้อื่น เพราะนอกจากจะทำให้ตัวผู้พูดดูไม่ดีเองแล้ว ยังลดทอนกำลังใจของผู้ฟัง และเป็นการสร้างศัตรูให้กับผู้พูดอีกด้วย
.............................................................................
ภาพ : ณรงค์ พูลเงิน
หนังสือวัวจอมพลัง สำนักพิมพ์ห้องเรียน
(www.classpublishing.com)
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม