กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
ถวายพระพรชัย ๘๕ พรรษา องค์อัครศิลปิน


 

           ครั้นถึงวันที่ ๕ ธันวาคม เวียนมาบรรจบในทุกปี เหล่าพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งผอง ล้วนปลื้ม ปิติกันทั่วหน้า โดยเฉพาะเมื่อได้รับทราบข่าวดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของแผ่นดิน ผู้เป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของทุกคน ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และจะเป็นข่าวที่ดีที่สุดในรอบปีถ้าพระองค์ทรงหายจากอาการพระประชวรซึ่งสาเหตุหลักมาจากการตรากตรำพระวรกาย ในการทรงงานเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่พสกนิกรชาวไทย

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก
จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล(รัชกาลที่ ๘) ตามลำดับ

           นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐยิ่งแก่ประชาชนชาวไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประชาชนของพระองค์มาโดยตลอด พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกาย ทรงงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพสกนิกร ก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายทั่วประเทศ ช่วยให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและพบกับความสุขที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเกษตร การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคม
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบชลประทาน การทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา และอีกมากมายที่นำพาความเจริญให้กับประเทศไทย

           ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติก็เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ และทรงมีพระราชดำริ ที่แสดงความห่วงใยในศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างสม่ำเสมอ ดังเช่นที่พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาท แก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร ซึ่งจะเดินทางไปเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศออสเตรเลียวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ความตอนหนึ่ง ดังนี้

           "คำว่า วัฒนธรรม นี่ จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ ความจริงแปลว่า ความเจริญความก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่า มีความเจริญมาช้านาน ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า
แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านาน ต่อเนื่องมาและจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด แต่ถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม ว่ามีฝีมือ เท่านั้นเองก็ไม่พอ ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ในเลือดวัฒนธรรม ไทยมีความอ่อนโยน ก็ต้องเป็นคนอ่อนโยนทั้งในเวลาที่มาแสดง ทั้งนอกเวลาแสดง วัฒนธรรมหมายถึงว่าเป็นคนที่มีความคิดสูงด้วย อย่างเราบอกว่าคนนี้มีวัฒนธรรมหรือคนที่ไม่มีวัฒนธรรม หมายความว่าคนนี้หยาบคายหรือคนนี้อ่อนโยน มีความ สุภาพเรียบร้อย ก็แสดงความสุภาพเหมือนกัน ให้เห็นว่าความสุภาพอ่อนโยนนั้น อยู่ในเลือดของคนไทย” (ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทฯ . ๒๕๑๓ : ๑๒๗)

           จะเห็นได้ว่าพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ศิลป วัฒนธรรม ที่ได้ทรงบำเพ็ญมานับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จวบจนทุกวันนี้นั้นมีอยู่มากมาย พระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนไทยเกิดค่านิยม ความสำนึก ในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ เช่น การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และที่สำคัญยิ่งคือ การทรงเป็นต้นแบบ เป็นแบบอย่าง และทรงศึกษาค้นคว้าจนรู้แจ้งในพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมทั้งทรงห่วงใยให้มีการอนุรักษ์และสืบทอด ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยภาพยนตร์ส่วนพระองค์บันทึกภาพยนตร์เกี่ยวกับการฟ้อนรำแบบไทยไว้เพื่อเป็นแบบแผนแก่อนุชนรุ่นหลัง

           พระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทรงบำเพ็ญในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระอัจฉริยภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙

           พระราชสมัญญา "อัครศิลปิน” แปลตามศัพท์ว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ "ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” พระองค์ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณทั้ง จากพสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทรงเป็นปราชญ์ในศิลปะหลายสาขา อาทิ

           ด้านดุริยางคศิลป์ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิดโดยมีเครื่องดนตรีที่โปรดปรานเช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต โดยพระองค์ท่านได้ทรงดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ยอดนักคลาริเน็ตชื่อก้องโลก หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักเป่าทรัมเป็ต ฯลฯ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง ๔๘ เพลง ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง จำนวน ๗ เพลง โดยบรรเลงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในแนวแจซซ์ คลาสสิก เพลงสมัยนิยม บทเพลงขับร้อง เป็นต้น

           ด้านประติมากรรม ประติมากรรมฝีพระหัตถ์เป็นประติมากรรมลอยตัว ได้แก่ รูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระกำลังแผ่นหรือพระสมเด็จจิตรลดา การสร้างพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร

           ด้านจิตรกรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๐ มีผลงานด้านจิตรกรรมถึง ๑๖๗ ภาพทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไว้หลายด้าน ทั้ง ภาพเหมือนจริง(Portrait) เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์(expressionism) ภาพแบบคิวบิสม์(Cubism) ภาพนามธรรม(abstractionism) และภาพกึ่งนามธรรม (Semi-abstractionism)

           ด้านการถ่ายภาพ ทรงถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนทรงเป็นนักถ่ายภาพที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ เช่น ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และที่สำคัญภาพถ่ายสถานที่ที่พระองค์เสด็จไปทรงงานในท้องถิ่นทุรกันดานต่างๆ เพื่อนำมาประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา จนเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น

           เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ดังต่อไปนี้

           ๑.วันที่ ๓ ธันวาคม ศกนี้ เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๑.๓๐ น. ณ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี เชิญร่วมงานเฉลิมพระเกียรติ "อัครศิลปิน” ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ "พาพ่อไปหอศิลป์ เทิดพระเกียรติอัครศิลปิน รวมใจศิลป์ถวายพระพร” ชมนิทรรศการภาพถ่าย "พ่อลูกผูกผัน” การแสดงศิลปวัฒนธรรม
การขับร้องเพลงลูกทุ่งเฉลิมพระเกียรติฯ การอภิปรายโดยศิลปินแห่งชาติ การตัดสินการประกวดภาพถ่าย"พ่อหลวงในดวงใจไทยทั้งชาติ” การประกวดวรรณกรรม "พาพ่อไปหอศิลป์” ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ภาพยนตร์พระราชประวัติพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ และฟังเพลงพระราชนิพนธ์ในระบบเสียง ๓ มิติ และภาพยนตร์ ๓ มิติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมและสินค้าชุมชน และร้อยรวมดวงใจกันจุดเทียนชัยถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

           ๒.วันที่ ๕ ธันวาคม ศกนี้ เวลา ๒๐.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชิญชมการแสดงมหาอุปรากรเฉลิมพระกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เตมีย์ใบ้” (The Silent Prince) ประพันธ์ดนตรีและคำร้องโดย สมเถา สุจริตกุล ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติ ก่อนเสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้าในทศชาติชาดกมาถ่ายทอดเป็นมหาอุปรากรแบบมาตรฐานสากล (เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย)

          ๓.โครงการ "ทศพิธราชธรรม” เป็นการนำหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ในการปกครองบ้านเมือง มาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาส ๘๕ พรรษา ประพันธ์คำร้องโดยศิลปินแห่งชาติ นายชาลี อินทรวิจิตร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี และคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ราชบัณฑิต ประพันธ์ทำนองโดย นายวิรัช
อยู่ถาวร นายจิรวุฒิ กาญจนะผลิน เรียบเรียงเสียงประสานโดยนายกิตติ ศรีเปารยะ และขับร้องโดยนักร้องคุณภาพและมีชื่อเสียงของประเทศ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้ น้อมนำหลัก "ทศพิธราชธรรม” มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยจัดทำในรูปแบบของซีดีเพลง เพื่อแพร่แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ที่
www.culture.go.th

           ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอเชิญประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว พร้อมร่วมถวายพระพรออนไลน์ได้ที่ www.culture.go.th


*******************
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)