ผ้าหางกระรอก เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย ที่ใช้เทคนิคการทอผ้าของชนเผ่าไทเพราะมีการทอผ้าชนิดนี้ ในชนเผ่าไทดั้งเดิม คือ ชาวภูไทและไทลาว โดยลักษณะสำคัญของผ้าหางกระรอกคือ เป็นผ้าพื้นเรียบที่ใช้เทคนิคการทอพิเศษ ที่นำเส้นพุ่งพิเศษโดยใช้เส้นไหม หรือเส้นฝ้าย ๒ เส้น ๒ สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือ ไหมลูกลาย หรือ เส้นหางกระรอก ใช้อุปกรณ์ในการตีคือ ไน และโบก ซึ่งต้องอาศัยทักษะความชำนาญของผู้ตีเกลียวที่จะทำให้ได้เกลียวถี่ หรือเกลียวห่างตามต้องการ ส่วนเส้นไหมที่จะนำมาตีเกลียวนั้นควรเป็น เส้นไหมน้อยที่คัดเป็นพิเศษให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอกัน จากนั้นจึงนำไปเป็นเส้นพุ่งทอผ้า และผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกตามลักษณะดังกล่าวว่า "ผ้าหางกระรอก” นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้นเช่นบางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่าผ้าหางกระรอกมากกว่าลวดลายและกรรมวิธีการทอ
สำหรับการทอผ้าหางกระรอกให้ขึ้นเงาเหลือบและปรากฏลวดลายคล้ายขนหางกระอกอย่างสวยงาม ต้องอาศัยความชำนาญของช่างผู้ตีเกลียว ที่จะทำให้เกลียวถี่หรือเกลียวห่างตามความต้องการ และเส้นไหมที่จะนำมาตีเกลียวเป็นเส้นหางกระรอกนั้น ต้องใช้เส้นไหมน้อยที่คัดพิเศษให้ได้เส้นไหมที่มีความสม่ำเสมอกันจากการทำเส้นไหมให้มีเส้นเล็กขนาดเสมอกันตลอดที่จะใช้ทอผ้าทั้งผืน ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน การย้อมสีให้สม่ำเสมอ การให้สีต้องคำนึงถึงว่าเมื่อเรานำเส้นไหมสองเส้น สองสี หรือสามเส้น สามสีมาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันจะเกิดลายเหลือบสีบนเกลียวเส้นไหมขึ้นมาได้อย่างไร จะใช้เกลียวที่มีระยะเกลียวเสมอกัน ทั้งเกลียวถี่และเกลียวห่างอย่างไร จะต้องตีเกลียวกี่รอบที่สำคัญ คือ เมื่อนำเส้นไหมหางกระรอกที่ตีเกลียวแล้ว คือ เส้นลูกลาย นำมาพุ่งบนเส้นยืนจะต้องจัดเรียงเส้นเรียงเกลียวอย่างไร จึงจะทำให้เกิดลวดลายเป็นเกลียวที่ยอดคลื่นแหลม ยอดคลื่นป้านรวมถึงจะสอดเส้นสีสลับกันอย่างไร พุ่ง ๒ กระสวย หรือ ๓ กระสวย ถึงจะทำให้ผ้าทอหางกระรอกออกมางดงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยทั้งทักษะประสบการณ์ของผู้ทอ เพื่อสร้างสรรค์ความงดงามบนผืนผ้าให้มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ โดยมีวิธีการทอให้เกิดลวดลาย ๓ แบบ ได้แก่
๑. ลวดลายหางกระรอกที่พุ่งไปด้านขวา เป็นการทอด้วยเส้นใยที่ตีเกลียวด้านขวา
๒. ลวดลายหางกระรอกที่พุ่งไปด้านซ้าย เป็นการทอด้วยเส้นใยที่ตีเกลียวไปด้านซ้าย
๓. ลวดลายหางกระรอกที่มีสายพุ่งเป็นหยักแหลม เป็นการใช้กระสวย ๒ อัน บรรจุเส้นด้ายพุ่งหรือเส้นหางกระรอกที่ตีเกลียวควบเส้นไปทางด้านซ้ายเส้นหนึ่งและเส้นด้ายพุ่งหรือเส้นหางกระรอกที่ตีเกลียวควบเส้นไปทางด้านวาอันหนึ่งแล้วพุ่งทอสลับซ้ายขวามาตลอดผืนผ้า
โดยลักษณะทั่วไปของผ้าหางกระรอกคือ เป็นผ้าพื้นเรียบมีความกว้าง ๑ หลา ความยาว ๔ หลา มักมีสีเข้มเช่น สีเม็ดมะขาม สีเปลือกมังคุด สีแดงครั่ง ฯลฯ โดยจะมีลายเหลือบสีในตัว มองเหมือนภาพ ๓ มิติ ซึ่งผ้าหางกระรอกโบราณจะมีริ้วเชิงชายคั่นที่ชายผ้าทั้งสองด้าน ทอด้วยเส้นไหม ที่ต่างสีจากสีพื้น จะทอเป็นเส้นเล็กๆ ๘-๙ เส้น และมีเส้นกรอบบังคับไว้อีกข้างละ ๓-๔ เส้น ตามความพึงพอใจของผู้ทอ หรือบางผืนจะทอเป็นลายลูกแก้วเล็ก ที่ดูงดงามแปลกตา ริ้วเชิงชายนี้บางคนเรียกว่า กั้น, ก่าน, ขีดคั่น, เชิงคั่น และเชิงผ้ากั้นชาย
นอกจากนี้ยังมีการทอเป็นผ้าลายตาราง หรือโสร่ง ผ้าโสร่งส่วนใหญ่ จะทอด้วยเส้นไหมลูกลายหรือเส้นไหมหางกระรอก เนื้อผ้าในลายตารางจึงมีสีเหลือบลายคล้ายเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า ผ้าโสร่งไหมหางกระรอก หรือผ้าโสร่ง จะมีลักษณะเป็นตาตารางใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน สลับกันตลอดทั้งผืน ขีดคั่นระหว่างตาตารางสีใหญ่นั้นด้วย ริ้วขีดคั่นสีแดง หรือสีขาวหรือสีเหลือง เป็นเส้นเล็กๆ ทั้งผืน ผ้าตาราง หรือผ้าโสร่งนี้จะมีหน้ากว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร แล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุง คล้ายกับผ้าซิ่นของผู้หญิง โทนสีของผ้าจะมี ๒ โทน คือ ผ้าโสร่งแดง จะมีสีสันสดใส สำหรับผู้ชายที่มีอายุไม่สูงนัก ไม่เกิน ๔๐ ปีแต่ถ้าเป็นผู้ชายสูงวัย จะใช้ผ้าโทนสีเข้ม เรียกว่า ผ้าโสร่งดำ ปัจจุบันได้มีการทอผ้าหางกระรอกประยุกต์ให้มีลวดลายสีสันสวยสวยงาม เหมาะสำหรับนำไปตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งการที่ร่วมสมัย รวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าห่อม ฯลฯ ซึ่งแหล่งผลิตผ้าหางกระรอกพบมากในแถบภาคอีสานใต้ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีและพบในภาคใต้ที่นครศรีธรรมราชและตรัง
.......................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือผ้าไหมพื้นบ้าน โดย ศิริ ผาสุ, www.qsds.go.th/silkcotton/k_2.php