"วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง” เสียงเพลงในท่วงทำนองที่คุ้นหู ซึ่งเรามักจะได้ยินแว่วมาก่อนคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง
เสียงเพลงลอยกระทง ผสานบรรยากาศการทำกระทง ทั้งช่วยกันหาวัสดุมาทำกระทง ไม่ว่าจะเป็น ต้นกล้วยที่นำมาเป็นฐานของกระทง ใบตอง ดอกไม้ ธูป และเทียน โดยเฉพาะเด็กๆจะชื่นชอบและตื่นเต้นมากกับการได้มีส่วนร่วมในการทำและตกแต่งกระทงให้สวยงาม เพื่อจะนำไปลอยกับคุณพ่อ คุณแม่ พร้อมกับปู่ ย่า ตา ยาย ในยามค่ำคืนมาเยือน นอกจากนี้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังอาจมีการจัดกิจกรรมต่างๆขึ้น เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม เช่น การจัดประกวดหนูน้อยนพมาศ นางนพมาศ การประกวดกระทงสวยงาม และจุดดอกไม้ไฟ ล้วนช่วยสร้างสีสันและความสนุกสนานให้เพิ่มขึ้น เหล่านี้เองจึงเป็นเสน่ห์ที่หลายคน เฝ้ารอคอยวันลอยกระทง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันที่พระจันทร์เต็มดวงส่องแสงนวลตายิ่งนัก
การลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ "ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ "เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าการทำบุญไหว้พระ ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยแรกๆ ก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม แขวนโคม และลดชุดลอยโคมลงน้ำ ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้ จนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๓ ซึ่งก็หมายความว่า คำว่า "ลอยกระทง” เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง อนึ่ง ประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดพรรณนาอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดได้แต่งกระทงเล่นทุกปี เมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพแล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และกว่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศก็ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก
ประเพณีลอยกระทง นิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา หรือเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ และเพื่อสำนักบุญคุณของน้ำที่ได้นำมากินมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันรวมทั้ง ขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆไม่สะอาด
วัสดุที่นำมาใช้เพื่อลอยเป็นกระทงมีหลากหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆในบ้านเราก็จะเป็นกระทงที่ทำจากใบตอง ปักด้วยเทียน เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง เพราะหาง่ายและก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย กระทงที่ทำจากโฟม ก็พอมีเห็นบางแต่ปัจจุบันมีค่อนข้างน้อยเพราะทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติมาใช้ลอยแทน กระทงสายที่ทำจากกะลามะพร้าว ขัดให้สะอาดและหลอมเทียนพรรษาใส่ลงไปในกะลาจุดเทียนแล้วลอยลงน้ำ ไหลตามกันเป็นสายตามลำน้ำแม่ปิง เรียกว่ากระทงสาย ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตาก ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
เสน่ห์ของประเพณีลอยกระทงของไทยเรายังคงเป็นมนต์ขลังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ทั้งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู รู้จักสำนึกถึงคุณค่าของน้ำ ที่ใช้อุปโภคบริโภคทุกวัน นับเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างหนึ่งของไทย ถึงแม้ปัจจุบันนี้อาจมีรูปแบบการลอยกระทงที่เปลี่ยนไปบ้าง ตามความเจริญของเทคโนโลยี การเดินทางที่ไม่สะดวก หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน อาจจะมีรูปแบบใหม่ในการลอยกระทง สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางไปลอยกระทง การลอยกระทงออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพียงปลายนิ้วสัมผัสคุณก็สามารถคลิ๊กเลือกกระทงพร้อมคำอธิษฐานสะดวกสบายไปตามยุคสมัย ความรู้สึกที่ได้อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยกับการออกไปลอยกระทงในแม่น้ำจริงๆ แต่สิ่งที่ได้เหมือนกันคือการได้ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของเราให้คงอยู่นั่นเอง
วันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถือเป็นวันลอยกระทง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีลอยกระทง ให้คงอยู่คู่สังคมไทยโดยการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและสายน้ำให้สะอาด หากท่านไหนไม่สะดวกเดินทางไปข้างนอกก็ร่วมลอยกระทงออนไลน์กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ที่ WWW Culture.go.th
........................................
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วน จากหนังสือ : ลอยกระทง ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
บทความโดย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
|