
"ฤษี” หรือ "ฤาษี” เป็นนักบวชประเภทหนึ่งที่เรามักอ่านเจอในวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านหลายต่อหลายเรื่อง บทบาทสำคัญคือการเป็นครูผู้ให้วิชาความรู้แก่ตัวเอกในเรื่องต่างๆ เช่น ฤษีโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ฤษีอาจารย์ของจันทรโครพในเรื่องจันทรโครพ ฤษีที่เกาะแก้วพิสดารที่ช่วยเลี้ยงดูและสอนวิชาต่างๆให้สุดสาครในเรื่องพระอภัยมณี เป็นต้น แม้แต่ในวงการดนตรีและนาฏศิลป์ก็มีฤษีเป็นครูเช่นกัน คือ พระนารทฤษีด้านวิชาดนตรี และพระภรตมุนีด้านวิชาฟ้อนรำ ฤษีเป็นใครมาจากไหน เรามาเล่าสู่กันฟัง
ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง กล่าวว่า "ฤษี” มาจากคำว่า "ฤษิ” แปลว่า ผู้เห็น หมายถึง การแลเห็นด้วยความรู้พิเศษอันเกิดจากฌาน สามารถแลเห็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้ เพียงแต่ในวรรณคดีพุทธศาสนาได้พูดถึงความรู้ระลึกอดีตชาติของฤษีว่า มีได้ไม่เกินแปดสิบชาติ ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระลึกอดีตชาติได้มากมายหาที่สุดมิได้ พระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าฤษีทั้งปวง มีการจัดอันดับชั้นและกลุ่มฤษีที่แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างทางหลักฐานวรรณคดีสันสฤต แต่พอจะรวบรวมได้ว่า ลำดับชั้นของฤษี แบ่งเป็น ๗ ระดับ อันหมายถึง ฤษีที่ทรงคุณลักษณะพิเศษเหนือกว่าฤษีธรรมดา ที่เป็นนักบวชอยู่ตามป่า ดังนี้
๑.พรหมฤษี หรือ พรหมรรษี หมายถึง ฤษีที่สืบเชื้อสายมาจากพระพรหม หรือเป็นฤษีที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ ถือเป็นวรรณะสูงสุด และเป็นผู้บำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวดเหนือฤษีทั้งหลาย เท่าที่พบชื่อในวรรณคดีกาพย์และปุราณะ เช่น อัตริ ภรัทวาช เคาตม (ไทยเรียก ฤษีโคดม) กัศยป นารท (ไทยเรียก นารอท) และฤษีวยาส (ผู้แต่งกาพย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ กาพย์มหาภารตะ ซึ่งยาวถึง ๑ แสนโศลก)
๒.เทพฤษี หรือ เทวรรษี จัดเป็นฤษีที่มีฐานะสูงสุดโดยชาติกำเนิด กล่าวคือ เป็นเทพมาตั้งแต่เกิด แล้วบำเพ็ญพรตถือเพศเป็นฤษีภายหลังเพื่อสร้างตบะเดชะให้ยิ่งยวดขึ้นไป อย่างเช่นพระศิวะเอง แม้จะเป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่พระองค์ก็เคยไปบำเพ็ญพรตเป็นครั้งคราว จนได้พระนามว่า เทวรรษี เช่นเดียวกับเทพฤษีตนอื่นๆ ส่วนเทพฤษีที่นับว่าเก่าดึกดำบรรพ์ที่สุดน่าจะได้แก่ พระพฤหัสบดี (พรหมณัสปติ) ทรงดำรงตำแหน่งเทวปุโรหิตของทวยเทพทั้งหลายคู่กับพระอัคนี (เทพแห่งไฟ) ส่วนพระศุกร์ ก็เป็นเทพฤษีอีกตนที่ได้เป็นอาจารย์ของบรรดาอสูรอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพวกเทพ ท่านมีมนต์ที่เรียกว่า "มฤตสัญชีวินี” ช่วยชุบชีวิตอสูรที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนมาได้ จึงเป็นผู้ที่ทวยเทพหวาดเกรงมากที่สุด
๓.ราชฤษี หรือ ราชรรษี หมายถึง พระราชาที่สละราชสมบัติออกบวชเป็นฤษีจะโดยชั่วคราวหรือตลอดชีวิตก็ตาม เช่น พระชนก (บิดานางสีดา) พระราม-พระลักษณ์ หรือพระเวสสันดรตอนออกไปเดินป่า เป็นต้น นอกจากนี้ บางครั้งยังใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่มีเดชานุภาพ แม้มิได้ออกบวชเป็นฤษีก็ตาม เช่น ท้าวทุษยันต์ กษัตริย์จันทรวงศ์ตัวเอกในบทละครเรื่อง "ศกุนตลา” ก็มีฉายาว่า ราชรรษี
๔.มหาฤษี หรือ มหรรษี แปลว่า ฤษีผู้ยิ่งใหญ่ หมายถึง ฤษีโดยทั่วไปที่สามารถบำเพ็ญตบะได้อย่างอุกฤษฏ์ จนมีฤทธิ์เดชเป็นที่เกรงกลัวของเทวดาและอสูรทั้งหลาย ฤษีดังกล่าวนี้ อาจจะรวมถึงฤษี ๓ พวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ได้ หรือจะใช้เรียกฤษีผู้มีชื่อเสียงอื่นใดก็ได้ทั้งนั้น เช่น ฤษีวาลมีกิ ผู้แต่งเรื่อง รามายณะ อันเป็นต้นกำเนิดของรามายณะทุกฉบับในแถบเอเซียอาคเนย์ ฤษีทุรวาส ผู้โทสะร้ายสาปแช่งเทวดาให้พินาศ ฤษีกบิลผู้มีตาไฟและได้เผาผลาญเจ้าชายสูรยะวงศ์ ๖,๐๐๐ องค์ถึงกาลพินาศ และพระภรตมุนี ผู้รจนาตำรา "นาฏยศาสตร์” โดยจดจำท่ารำของพระศิวะปางนัฏราชที่ได้แสดงไว้ที่ตำบลจิทัมพรัมในอินเดียภาคใต้เอาไว้ เป็นต้น
๕.บรมฤษี (ปรมฤษี) หรือ ปรมรรษี แปลว่า ฤษีผู้ยิ่งยอด แต่ไม่มีคำอธิบายจำเพาะเจาะจงว่ามีคุณลักษณะพิเศษทางใดแน่ชัด บางทีก็อธิบายกว้างๆว่ามีลักษณะเหมือนเทพฤษี
๖.ศรุตฤษี หรือ ศรุตรรษี คือ ฤษีที่แต่งคัมภีร์พระเวทโดยทั่วไป
๗.กาณฑฤษี หรือ กาณฑรรษี คือ ฤษีที่แต่งบทสวดบางบท โดยเฉพาะในคัมภีร์พระเวท
นอกจากลำดับชั้นแล้ว ยังมีการแบ่งฤษีออกเป็นกลุ่มต่างๆอีก เช่น แบ่งเป็นกลุ่มทวยเทพ อาทิ กลุ่ม เทพวสุ กลุ่มเทพมรุต และกลุ่มเทพอาทิตย์ เป็นต้น บางสมัยก็แบ่งออกเป็นกลุ่มสัปตฤษี คือ ฤษีผู้เป็นใหญ่เจ็ดตนกลุ่มปชาบดี คือ ฤษีผู้เป็นใหญ่แห่งเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นโอรสอันเกิดจากใจพระพรหม เพื่อประโยชน์ในการสร้างเผ่าพันธุ์ทวยเทพ อสูร มนุษย์ นาค ครุฑ ปีศาจ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
กล่าวกันว่าในวรรณคดีสันสฤตจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับฤษีเป็นอันมาก บทบาทสำคัญของฤษีที่มีอยู่ในสังคมของสวรรค์และโลกมนุษย์ อาจจะสรุปได้ ดังนี้
๑.เป็นกวีรุ่นแรกของอินเดีย ได้แก่บรรดาฤษีต่างๆที่ช่วยรจนาคัมภีร์พระเวท รวมถึงฤษีวาลมีกิที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น อาทิกวี (กวีคนแรก) ผู้แต่งกาพย์เรื่องแรกคือ "รามายณะ”
๒.เป็นผู้แต่งตำราฟ้อนรำและเป็นครูนาฏศิลป์ คือ พระภรตมุนี ผู้รวบรวมท่ารำ (กรณะ) ของพระศิวะไว้ทั้ง ๑๐๘ ท่า และเขียนตำรานาฏศาสตร์ อธิบายไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การศึกษาวิชาฟ้อนรำในอินเดียและประเทศต่างๆในเอเซีย
๓.เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรี คือ พระนารทฤษี ผู้เป็นโอรสของพระพรหม เป็นพระฤษีสูงสุดผู้เป็นทั้งเทพฤษีและพรหมฤษี ไทยเราจะเรียก"พระฤษีนารอท” หรือที่รู้จักในนามพ่อครูฤษีหรือ "พ่อแก่”
๔.เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแพทย์แบบโบราณ หรือกล่าวอีกนัย คือ ผู้เขียนตำรายาที่ปรุงจากสมุนไพรต่างๆนั่นเอง เพราะฤษีมักเป็นผู้ท่องเที่ยวไปในป่า จึงย่อมรู้จักสมุนไพรต่างๆเป็นอย่างดี ไทยเราก็ถือคตินี้ หมอยาแผนโบราณจึงมักมีรูปฤษีไว้บูชาในฐานะครูแพทย์ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นฤษีตนใด
๕.เป็นผู้ปราบปรามผู้ชั่วร้าย ซึ่งจะปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง ในวรรณคดีภาคเหนือของไทยก็มีเรื่อง "จามเทวีวงศ์” ที่กล่าวถึง ฤษีวาสุเทพ สร้างเมืองแล้วเขียนคำสาปแช่งไว้ว่า เมื่อใดพระราชาและราษฎรประพฤติชั่วร้าย ขอให้เมืองนั้นล่มจมไป ซึ่งก็คือการปรามมิให้คนทำชั่วนั่นเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวรรณคดีบาลี เรื่องราวเกี่ยวกับฤษีมักจะเป็นนักบวชที่บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าตามปกติ ไม่ค่อยมีเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์อันใด ส่วนฤษีในชาดกต่างๆทางพุทธศาสนาก็มักเป็นบุคคลที่มุ่งไปในทางสละโลก ต่างกับฤษีในวรรณคดีสันสฤตที่มักมีบทบาทอย่างมากในสังคมของชาวโลก มักจะเป็นผู้มีอำนาจน่ากลัว สามารถสาปแช่ง หรือทำลายใครๆได้ทั้งนั้น บางครั้งทวยเทพเองก็ไม่อาจต่อต้านอำนาจอันเกิดจากตบะของฤษีได้ จึงเกิดความหวั่นเกรง จนหลายครั้งต้องคอยหาโอกาสมาทำลายตบะดังกล่าว เช่น ส่งนางอัปสรมายั่วยวนจนฤษีตบะแตก สิ้นอำนาจและบารมีไป ซึ่งหลายท่านคงเคยอ่านเจอมาแล้ว
นอกเหนือจากคำว่า "ฤษี” ยังมีคำอื่นๆที่มีความหมายคล้ายๆกัน ได้แก่
-โยคี หมายถึง ผู้สำเร็จหรือกำลังศึกษาในโยคธรรม ได้แก่ พราหมณ์ที่เที่ยวทรมานตนในป่า
-มุนี หมายถึง พราหมณ์ผู้มีความรู้ชั้นสูง ที่เรียกว่า จบไตรเพท คือ มฤคเวท ยัชุรเวท และสามเวท
-สิทธา หมายถึง ฤษีที่ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง หรือเป็นผู้ทำตบะได้ถึงที่สุดแล้ว
-ดาบส หมายถึง ผู้บำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลส มุ่งไปในทางทรมานกายและจิต หวังโลกุตรสุข
ในประเทศไทยเรา นอกจาก "ฤษี” ในวรรณกรรมต่างๆแล้ว ฤษีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี น่าจะเป็น "ฤษีดัดตน” ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) อันเป็นประติมากรรมที่หล่อด้วยโลหะเจือประกอบด้วยสังกะสีและดีบุกเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดฯให้สร้างขึ้น เป็นรูปฤษีดัดตนในลักษณะต่างๆ รวม ๘๐ รูป แต่ละรูปก็จะมีโคลงสี่สุภาพจารึกไว้ว่า ฤษีตนนั้นชื่ออะไร ดัดตนท่าอะไร แก้เมื่อยแก้ลมอย่างไร ฯลฯ ซึ่งท่วงท่าอาการดังกล่าวจะไม่มีซ้ำกันเลย ใครสนใจก็ไปชมกันได้ เพราะปัจจุบันทางวัดโพธิ์ได้มีการทำรูปปั้นฤษีดัดตนใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เสียหายหรือหายไป จนครบ ๘๐ ตนเท่าเดิมแล้ว
จากทั้งหมดข้างต้น เราคงจะเห็นแล้วว่า "ฤษี” ไม่ว่าจะปรากฎตน ณ ที่ใด ท่านก็เป็น "ครู” ผู้ให้ความรู้อยู่เสมอ แม้แต่ "ฤษีดัดตน” ที่เป็นเพียงประติมากรรม ก็ยังสอนให้เราได้รู้จักการรักษาโรคได้ด้วยตนเอง
............................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม